settings icon
share icon
คำถาม

ผู้หญิงควรเป็นศิษยาภิบาล/นักเทศน์ไหม? พระคัมภีร์พูดถึงผู้หญิงที่ทำพันธกิจว่าอย่างไร?

คำตอบ


ในปัจจุบันคงไม่มีเรื่องใดที่มีการถกกันในคริสตจักรมากกว่าเรื่องผู้หญิงที่รับใช้ในฐานะศิษยาภิบาล/นักเทศน์ ดังนั้นการไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการแข่งขันกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายจึงเป็นเรื่องสำคัญ มีผู้หญิงหลายคนเชื่อว่าผู้หญิงไม่ควรรับใช้ในฐานะศิษยาภิบาลและพระคัมภีร์ก็มีข้อจำกัดเกี่ยวกับเรื่องพันธกิจของผู้หญิง - และมีผู้ชายหลายคนเชื่อว่าผู้หญิงรับใช้ในฐานะนักเทศน์ได้และไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับงานรับใช้ของผู้หญิง นี่ไม่ใช่เรื่องการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือการเลือกที่รักมักที่ชัง แต่เป็นเรื่องของการตีความหมายในพระคัมภีร์

ข้อพระคัมภีร์ 1 ทิโมธี 2:11-12 กล่าวว่า “ให้ผู้หญิงเรียนอย่างเงียบๆและด้วยใจนอบน้อมทุกอย่าง ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสั่งสอนหรือใช้อำนาจเหนือผู้ชาย แต่ให้เขานิ่งๆอยู่” ในคริสตจักรพระเจ้าทรงกำหนดบทบาทให้กับผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน นี่เป็นผลจากวิธีการทรงสร้างมนุษย์ (1 ทิโมธี 2:13) และวิธีที่ความบาปที่เข้ามาในโลก (2 ทิโมธี 2:14) โดยการดลใจจากพระเจ้าอัครสาวกเปาโลไม่อนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิอำนาจในการสอนฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชาย ข้อห้ามนี้ทำให้ข้อสงสัยเกี่ยวกับการเป็นเป็นศิษยาภิบาลของผู้หญิง ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการเทศนา, สั่งสอน และการมีสิทธิอำนาจฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชายหมดไป

มี “ข้อโต้แย้ง” มากมายต่อมุมมองเกี่ยวกับพันธกิจของผู้หญิง/ศิษยาภิบาลหญิง ข้อที่เป็นที่รู้จักกันดีโต้ว่าการที่ท่านอาจารย์เปาโลห้ามผู้หญิงไม่ให้สอนก็เพราะว่าในศตวรรษแรกนั้นผู้หญิงไม่มีการศึกษา แต่ข้อพระคัมภีร์ 1 ทิโมธี 2:11-14 ไม่ได้พูดถึงเรื่องการศึกษาเลย หากการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ในพันธกิจ สาวกของพระเยซูส่วนใหญ่คงไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ข้อโต้แย้งประการที่สองที่เป็นที่รู้จักกันดีเช่นกันดีโต้ว่าท่านอาจารย์เปาโลห้ามผู้หญิงในเมืองเอเฟซัสเท่านั้นไม่ให้สอน (1 ทิโมธี เป็นจดหมายที่ท่านเขียนถึงทิโมธีผู้เป็นศิษยาภิบาลของคริสตจักรแห่งเมืองเอเฟซัส) เมืองเอเฟซัสเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีวิหารของเทพีอาร์เตมิส (เทพเทียมเท็จของกรีก/ โรมัน) ตั้งอยู่ และผู้หญิงเป็นผู้นำในการนมัสการเทพีอาร์เตมิส แต่หนังสือ 1 ทิโมธีไม่ได้พูดถึงเทพีอาร์เตมิสเลย และท่านอาจารย์เปาโลก็ไม่ได้พูดว่าการนมัสการเทพีอาร์เตมิสคือเหตุผลสำหรับข้อห้ามในหนังสือ 1 ทิโมธี 2:11-12

ข้อโต้แย้งประการที่สามที่เป็นที่รู้จักกันดีอีกข้อหนึ่งโต้ว่า ท่านอาจารย์เปาโลพูดถึงสามีและภรรยาเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ชายและผู้หญิง รากศัพท์ภาษากรีกที่ใช้ในหนังสือ 1 ทิโมธี 2:11-14 อาจหมายถึงสามีและภรรยาก็ได้ แต่ความหมายพื้นฐานหมายถึงผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนั้นคำ ๆ เดียวกันในภาษากรีกถูกนำมาใช้ในข้อ 8-10 ด้วย สามีเท่านั้นหรือที่ได้รับอนุญาตให้ยกมืออันบริสุทธิ์ปราศจากโทโสและการเถียงกันเพื่ออธิษฐาน (ข้อ 8)? และภรรยาเท่านั้นหรือที่ถูกกำหนดให้แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย, ประดับด้วยการกระทำดี และนมัสการพระเจ้า (ข้อ 9-10)? ไม่ใช่แน่นอน พระคัมภีร์ข้อ 8-10 เขียนว่าผู้ชายและผู้หญิง ไม่ใช่สามีและภรรยา ดังนั้น ในบริบทนี้จึงไม่ได้มีอะไรที่ชี้ให้เห็นเลยว่ามีการเปลี่ยนจากการใช้คำว่าผู้ชายและผู้หญิงมาเป็นสามีและภรรยาในข้อ 11-14

ข้อโต้แย้งที่ได้ยินบ่อย ๆ อีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับ ศิษยาภิบาลหญิง/นักเทศน์หญิง เป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ มิเรียม, เดโบราห์. ฮัลดาห์, ปริสสิลลา, เฟบี, ฯลฯ ผู้ซึ่งมีตำแหน่งผู้นำในพระคัมภีร์ ข้อโต้แย้งนี้ไม่ได้มองถึงความจริงที่สำคัญบางประการ คือ ในส่วนที่เกี่ยวกับเดโบราห์ เธอเป็นผู้วินิจฉัยหญิงคนเดียวในหมู่ผู้วินิจฉัยชาย 13 คน ในส่วนที่เกี่ยวกับฮัลดาห์ เธอเป็นผู้เผยวจนะหญิงคนเดียวท่ามกลางผู้เผยวจนะชายมากมายที่พระคัมภีร์กล่าวถึง ส่วนมิเรียม เธอเกี่ยวข้องในฐานะผู้นำเพราะเป็นพี่สาวของโมเสสและอาโรน ผู้หญิงอีกสองคนที่โดดเด่นในสมัยพงศ์กษัตริย์คืออาธาลิยาห์ และ เยซาเบล แต่ทั้งสองคนก็ไม่ได้เป็นตัวอย่างของผู้นำหญิงของพระเจ้าเลย

ในหนังสือกิจการบทที่ 18 ปริสสิลลากับอาควิลลา ถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้รับใช้ที่สัตย์ซื่อของพระคริสต์ ชื่อของปริสสิลลาถูกเอ่ยถึงก่อน (ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษ) ซึ่งหมายความว่างานรับใช้ของเธอคง “เด่น” กว่าของสามี แต่พระคัมภีร์ไม่ได้บอกไว้เลยว่าปริสสิลลารับใช้แย้งกับที่ข้อพระคัมภีร์ 1 ทิโมธี 2:11-14 กล่าวไว้ ปริสสิลลากับอาควิลลาเป็นคนที่รับอปอลโลมาที่บ้าน เพื่อสั่งสอนให้เขารู้ทางของพระเจ้าให้ถูกต้องยิ่งขึ้น(กิจการ18:26)

ในหนังสือโรม 16:1 แม้ว่าเฟบีจะถูกเรียกว่าเป็น “มัคนายก” ไม่ใช่ “ผู้รับใช้” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอเป็นผู้สอนในคริสตจักร “สามารถสอนได้” เป็นคุณสมบัติของผู้ปกครอง ไม่ใช่มัคนายก (1 ทิโมธี 3:1-13; ทิตัส 1:6-9) ผู้ปกครอง/พระ/มัคนายกถูกบันทึกว่าต้อง “เป็นสามีของหญิงคนเดียว” “บังคับบัญชาบุตรทั้งหลายของตนได้” “เป็นที่เคารพ” นอกจากนั้น ในหนังสือ 1 ทิโมธี 3:1-13 และ ทิตัส 1-6-9 ศัพนามที่ใช้แทนเพศชายถูกนำมาเรียกผู้ปกครอง/พระ/มัคนายก

โครงสร้างของข้อพระคัมภีร์ 1 ทิโมธี 2:11-14 แสดง “เหตุผล” ชัดเจน ข้อ 13 เริ่มต้นด้วยคำว่า “ด้วยว่า” แล้วยก “สาเหตุ” ที่ท่านอาจารย์เปาโลกล่าวไว้ในข้อ 11-12 ว่าทำไมผู้หญิงจึงไม่ควรสอนหรือมีสิทธิอำนาจเหนือผู้ชาย นั่นคือ “พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างอาดัมก่อน แล้วจึงทรงสร้างเอวา และอาดัมไม่ได้ถูกหลอกลวง แต่ผู้หญิงนั้นได้ถูกหลอกลวง” นี่คือเหตุผล พระเจ้าทรงสร้างอาดัมก่อนแล้วจึงทรงสร้างเอวาให้เป็น “ผู้ช่วย” อาดัม ขั้นตอนในการทรงสร้างมีผลมาถึงโครงสร้างของครอบครัว (เอเฟซัส 5:22-23) และคริสตจักรด้วย ความจริงที่ว่าเอวาถูกหลอก ลวง ก็เป็นเหตุผลด้วยว่าทำไมผู้หญิงจึงไม่ควรเป็นศิษยาภิบาลหรือมีสิทธิอำนาจฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชาย นี่จึงทำให้คนบางคนเชื่อว่าผู้หญิงไม่ควรสอนเพราะพวกเขาถูกหลอกง่าย แนวความคิดนี้สามารถนำมาถกได้ … นั่นคือ … ถ้าผู้หญิงถูกหลอกง่ายจริง ๆ แล้ว ทำไมผู้หญิงจึงได้รับอนุญาตให้สอนเด็ก ๆ (ผู้ซึ่งถูกหลอกง่ายเหมือนกัน) และผู้หญิงด้วยกันเอง (ผู้ซึ่งถูกทึกทักว่าถูกหลอกง่าย) … แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่พระคัมภีร์หมายถึง ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้สอนหรือมีสิทธิอำนาจฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชายเพราะเอวาถูกหลอกลวง ดังนั้นพระเจ้าจึงทรงมอบสิทธิอำนาจเบื้องต้นในการสอนในคริสตจักรให้กับผู้ชาย

ผู้หญิงมีของประทานโดดเด่นทางด้านการให้การรับรอง, ความเมตตา, การสอนและการให้ความช่วยเหลือ พันธกิจหลายอย่างในคริสตจักรต้องพึ่งผู้หญิง ผู้หญิงไม่ได้ถูกห้ามไม่ให้อธิษฐานหรือเผยพระวจนะในที่สาธารณะ (1 โครินธ์ 11:5) เพียงแต่ถูกห้ามไม่ให้มีสิทธิอำนาจในการสอนฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชาย ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่ห้ามผู้หญิงไม่ให้ใช้ของประทานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (1 โครินธ์บทที่ 12) ทั้งผู้หญิงและผู้ชายถูกเรียกให้รับใช้ผู้อื่น, ให้แสดงผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กาลาเทีย 5:22-23) และให้ประกาศข่าวประเสริฐต่อผู้ที่หลงหาย (มัทธิว 28:18-20; กิจการ 1:8; 1 เปโตร 3:15).

พระเจ้าทรงกำหนดไว้ว่าให้ผู้ชายเท่านั้นรับใช้ในตำแหน่งเกี่ยวกับการสอนฝ่ายวิญญาณในคริสตจักร นี่ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายสอนได้ดีกว่าผู้หญิง หรือเพราะว่าผู้หญิงด้อยกว่าหรือฉลาดน้อยกว่าผู้ชาย (ซึ่งไม่ใช่) แต่เพระเจ้าทรงวางรูปแบบคริสตจักรไว้แบบนั้น ผู้ชายจะต้องเป็นตัวอย่างของผู้นำฝ่ายวิญญาณ – ทั้งในชีวิตและในคำพูด – ผู้หญิงจะต้องมีบทบาทในการเป็นผู้นำน้อยกว่า ผู้หญิงได้รับการหนุนใจให้สอนผู้หญิงด้วยกัน (ทิตัส 2:3-5) และพระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามผู้หญิงไม่ให้สอนเด็ก ๆ สิ่งเดียวทีผู้หญิงมีข้อจำกัดคือการสอนหรือการมีสิทธิอำนาจฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชาย ดังนั้นข้อจำกัดนี้จึงรวมถึงการรับใช้ในฐานะศิษยาภิบาล/นักเทศน์ของผู้หญิงด้วย นี่ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงมีความสำคัญน้อยไปกว่าผู้ชาย แต่เป็นการช่วยให้ผู้หญิงได้ทำพันธกิจที่เหมาะสมกับของประทานของพวกเขานั่นเอง

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

ผู้หญิงควรเป็นศิษยาภิบาล/นักเทศน์ไหม? พระคัมภีร์พูดถึงผู้หญิงที่ทำพันธกิจว่าอย่างไร?
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries