settings icon
share icon
คำถาม

: เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากชีวิตของเอสเธอร์

คำตอบ


: เอสเธอร์เป็นหญิงสาวชาวยิวผู้กลายเป็นพระราชินีแห่งเปอร์เซียและเธอได้ช่วยเหลือผู้คนของเธอจากแผนการสังหารเพื่อทำลายล้างพวกเขา เรื่องราวของเธอได้รับการบันทึกไว้ในพระธรรมแห่งพันธสัญญาเดิมตามชื่อเรียกของเธอ โดยชาวยิวเฉลิมฉลองการปลดปล่อยครั้งสำคัญนี้ในเทศกาลปุริม (Purim)

เรื่องราวของเอสเธอร์เริ่มต้นด้วยงานเลี้ยงของกษัตริย์ กษัตริย์อาหสุเอรัส (หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ เซอร์ซีส) เป็นบุตรชายของกษัตริย์เปอร์เซียผู้โด่งดังซึ่งมีนามว่า กษัตริย์ดาริอัสที่ 1 ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในเอสรา 4:24, 5:5–7, 6:1–15, ดาเนียล 6:1, 25, ฮักกัย 1:15 และ 2:10 เหตุการณ์ระหว่างเอสเธอร์กับกษัตริย์เซอร์ซีสเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 483 ปีก่อนคริสตศักราช อาณาจักรของกษัตริย์อาหสุเอรัสนั้นยิ่งใหญ่มาก ในความเป็นจริงมันเป็นอาณาจักรซึ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา เปอร์เซียครอบคลุมพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าตุรกี อิรัก อิหร่าน ปากีสถาน จอร์แดน เลบานอน และอิสราเอล รวมถึงยังครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอียิปต์ ซูดาน ลิเบีย และซาอุดีอาระเบียในปัจจุบันเช่นกัน

เช่น​เดียว​กับ​กษัตริย์​ต่าง​ชาติ​นอก​รีต​ส่วน​ใหญ่​ใน​สมัย​นั้น กษัตริย์​เซอร์ซีสชื่น​ชอบ​ที่​จะ​แสดง​ความ​มั่งคั่ง​และ​อำนาจ​ของ​พระองค์​ต่อ​สาธารณะ ซึ่ง​รวม​ถึง​งาน​ฉลองใหญ่โต​ที่​บาง​ครั้ง​กิน​เวลา​นาน​ถึง 180 วัน เห็นได้ชัดเจนว่าในระหว่างงานเลี้ยงตามที่กล่าวไว้ในเอสเธอร์ 1:10–11 กษัตริย์ทรงขอให้พระราชินีวัชทีมเหสีของพระองค์ปรากฎตัวต่อหน้าบรรดาขุนนางทั้งหมดเพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นถึงความงดงามของพระนางในขณะที่ทรงสวมมงกุฎ ความคาดหวังของกษัตริย์เซอร์ซีสคือต้องการให้พระราชินีวัชทีปรากฏตัวโดยทรงสวมเพียงแค่มงกุฎเท่านั้น พระราชินีวัชทีทรงปฏิเสธคำขอของกษัตริย์ แล้วพระองค์ก็ทรงพระพิโรธ กษัตริย์เซอร์ซีสจึงปรึกษากับเหล่าขุนนางที่ปรึกษาโดยประกาศว่าพระราชินีวัชทีกระทำผิดต่อประชาชนทั้งแผ่นดิน พวกเขากลัวว่าผู้หญิงเปอร์เซียจะได้ยินว่าพระราชินีวัชทีปฏิเสธที่จะเชื่อฟังสามีของเธอ และเริ่มดูหมิ่นสามีของพวกเธอเอง บรรดาขุนนางจึงเสนอแนะให้กษัตริย์ออกพระราชกฤษฎีกาทั่วดินแดนคือพระราชินีวัชทีจะไม่มีสิทธิ์เข้าเฝ้าพระองค์ได้อีก กษัตริย์ได้ทรงทำตามคำแนะนำโดยทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาเป็นภาษาประจำถิ่นทั่วทุกจังหวัด

เมื่อทรงขับไล่พระราชินีวัชทีแล้ว กษัตริย์ก็ไม่มีพระราชินีอีกต่อไป ข้าราชการผู้ปรนนิบัติของกษัตริย์เซอร์ซีสจึงทูลว่าขอให้หาสาวพรหมจารีที่สวยทั่วดินแดนมาเพื่อหาพระราชินีองค์ใหม่ โจเซฟัสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวบันทึกว่ากษัตริย์อาหสุเอรัสเลือกผู้หญิงมาทั้งหมด 400 คนเข้าฮาเร็มและเตรียมตัวรอรับการเลือกให้เป็นพระราชินีองค์ใหม่ (เอสเธอร์ 2:1–4) ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเข้ารับการดูแลความงามเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่จะเข้าเฝ้ากษัตริย์ (ข้อ 12) เอสเธอร์ชาวยิวผู้มีชื่อว่าฮาดาซาห์ในภาษาฮีบรูนั้นได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหญิงสาวพรหมจารีเหล่านี้ (ข้อ 8)

เมื่อถึงเวลาที่ต้องนำหญิงพรหมจารีเหล่านี้มาเข้าเฝ้ากษัตริย์ พวกเธอถูกเก็บไว้ในฮาเร็มภายใต้การดูแลของเฮกัย (เอสเธอร์ 2:8) หลังจากที่พวกเธอได้เข้าเฝ้ากษัตริย์แล้ว เนื่องจากพวกเธอไม่ใช่หญิงพรหมจารีอีกต่อไป พวกเธอจึงถูกย้ายไปยังพื้นที่ซึ่งจัดไว้ให้นางสนมหรือนายหญิง เป็นที่ซึ่งพวกเธออยู่ภายใต้การดูแลของขันทีอีกคนหนึ่งชื่อชาอัชกาส (ข้อ 14)

เอสเธอร์เคยอาศัยอยู่ที่สุสาเมืองป้อม ซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์ เธอเป็นลูกพี่ลูกน้องกับโมรเดคัยชาวเบนยามิน ซึ่งยังเป็นผู้ปกครองของเธอด้วย เขาเลี้ยงดูเธอเหมือนเป็นลูกสาวแท้ๆ ของตัวเองตั้งแต่พ่อแม่ของเธอเสียชีวิต โมรเดคัยมีตำแหน่งข้าราชการในรัฐบาลเปอร์เซีย (เอสเธอร์ 2:19) เมื่อเอสเธอร์ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสาวงามผู้เข้าชิงตำแหน่งพระราชินี โมรเดคัยสั่งไม่ให้เธอเปิดเผยภูมิหลังการเป็นชาวยิวของตน (ข้อ 10) นอกจากนี้เขายังแวะเวียนไปเยี่ยมฮาเร็มของกษัตริย์ทุกวันเพื่อดูว่าเอสเธอร์เป็นอย่างไรบ้าง (ข้อ 11)

เมื่อถึงคราวที่เอสเธอร์ต้องเข้าเฝ้ากษัตริย์ “เธอไม่ได้ขอสิ่งใดนอกจากสิ่งที่ขันทีของกษัตริย์เฮกัยผู้ดูแลพวกสตรีแนะนำ บัดนี้เอสเธอร์ได้รับความโปรดปรานในสายตาของทุกคนที่ได้พบเห็นเธอ” (เอสเธอร์ 2:15) นอกจากนี้เธอยังได้รับความโปรดปรานจากกษัตริย์อีกด้วย พระองค์ทรง “รักเอสเธอร์มากกว่าสตรีทั้งปวง” และพระองค์ทรงตั้งเธอให้เป็นพระราชินี (เอสเธอร์ 2:17) นอกเหนือจากจะมี “รูปร่างที่น่าหลงไหลและ (เป็นผู้ที่) งดงาม” (ข้อ 7 เพิ่มเติมจากผู้เขียน) ดูเหมือนพระนางเอสเธอร์ยังอ่อนน้อมต่อคำแนะนำของที่ปรึกษาผู้ชาญฉลาดและมีบุคลิกน่าประทับใจ เมื่อเรื่องราวดำเนินไปก็เห็นได้ชัดว่าพระเจ้าทรงทำงานตลอดกระบวนการทั้งหมด

ต่อมาโมรเดคัยนั่งอยู่ที่ประตูกษัตริย์และได้ยินแผนการลอบสังหารกษัตริย์เซอร์ซีส เขารายงานเรื่องนี้ต่อพระราชินีเอสเธอร์ ผู้รายงานเรื่องนี้ต่อกษัตริย์และยกความดีความชอบให้แก่โมรเดคัย แผนการลอบสังหารนี้ล้มเหลว แต่เหตุการณ์นี้กลับถูกลืมเลือนไป (เอสเธอร์ 2:21–23) เหตุการณ์นี้แสดงให้เราเห็นถึงความผูกพันระหว่างพระนางเอสเธอร์กับโมรเดคัย ตลอดจนความซื่อสัตย์ของพระนาง ทั้งโมรเดคัยและพระนางเอสเธอร์ต่างให้เกียรติแก่กษัตริย์และต้องการปกป้องพระองค์จากศัตรู

ภายหลังพระราชาทรงแต่งตั้งคนชั่วให้ดูแลกิจการของพระองค์ ชื่อของเขาคือฮามานและเขาดูหมิ่นชนชาติอิสราเอล ฮามานเป็นลูกหลานของอากัก กษัตริย์ของชาวอามาเลข ซึ่งเป็นชนชาติที่สาบานว่าจะเป็นศัตรูกับอิสราเอลเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน (อพยพ 17:14–16) ความลำเอียงและอคติต่ออิสราเอลหยั่งรากลึกภายในใจอันมืดมนของฮามาน ด้วยความโอหัง ฮามานจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ราชสำนักที่ประตูกษัตริย์คุกเข่าลงถวายเกียรติแก่เขา แต่โมรเดคัยปฏิเสธ บรรดาเจ้าหน้าที่ราชสำนักจึงรายงานเรื่องนี้ให้ฮามานทราบพร้อมบอกด้วยว่าโมรเดคัยเป็นชาวยิว ฮามานไม่เพียงแต่ต้องการลงโทษโมรเดคัยเท่านั้น แต่ยัง “พยายามทำลายชาวยิวทั้งหมด ผู้คนของโมรเดคัย ทั่วอาณาจักรของอาหสุเอรัส” (เอสเธอร์ 3:6) กษัตริย์เซอร์ซีสทรงยอมให้ฮามานดำเนินแผนการตามที่ท่านต้องการและมีพระราชกฤษฎีกาประกาศออกไปทั่วทุกจังหวัดว่า ในวันที่กำหนดซึ่งเลือกโดยการจับฉลาก (หรือปุริม) ประชาชนจะต้อง “ทำลาย ฆ่า และทำลายล้างชาวยิวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้หญิงและเด็กในวันเดียว” (เอสเธอร์ 3:13) ประชาชนต่างสับสน ขณะที่มีการไว้ทุกข์อย่างหนักท่ามกลางชาวยิว (เอสเธอร์ 3:15, 4:3)

พระราชินีเอสเธอร์ไม่รู้เรื่องแผนการกำจัดชาวยิวนี้ จนกระทั่งสาวใช้และขันทีของพระนางมารายงานว่าโมรเดคัยกำลังเดือดร้อน พระนางเอสเธอร์ส่งผู้สื่อสารไปหาโมรเดคัยเพื่อหาสาเหตุ โมรเดคัยส่งสำเนาคำสั่งให้ลูกพี่ลูกน้องของเขาและขอให้พระนาง “เข้าเฝ้ากษัตริย์เพื่อทูลขอความเมตตาและวิงวอนต่อพระองค์เพื่อชนชาติของพระนาง” (เอสเธอร์ 4:8) แต่ในช่วงเวลานั้นมีกฎห้ามเข้าเฝ้ากษัตริย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และกษัตริย์ก็ไม่ได้เชิญพระนางเอสเธอร์มาสามสิบวันแล้ว พระนางเอสเธอร์รายงานต่อโมรเดคัยผ่านคนกลางว่าดูเหมือนพระนางไม่สามารถช่วยเหลือได้ เขาตอบว่า “อย่า​คิด​ใน​ใจ​ว่า การ​ที่​เธอ​อาศัย​อยู่​ใน​ราชวัง เธอ​จะ​หนี​ความ​ตาย​ได้​มาก​กว่า​ชาว​ยิว​คน​อื่นๆ เพราะ​หาก​เวลา​นี้​เธอ​เงียบ​เฉย การ​บรรเทา​ทุกข์​และ​ความ​อยู่​รอด​ของ​ชาว​ยิว​จะ​มา​จาก​ที่​อื่น แต่​เธอ​และ​ตระกูล​ของ​เธอ​จะ​พินาศ​ไป เธอ​ได้​มา​รับ​ตำแหน่ง​ราชินี​เพื่อ​วิกฤต​กาล​เช่น​นี้​ก็​เป็น​ได้ ใคร​จะ​ไป​รู้” (เอสเธอร์ 4:13–14) ด้วยความเชื่ออันแรงกล้าเอสเธอร์ตอบตกลง พระนางขอให้ชาวยิวอดอาหารอธิษฐานให้พระนางเป็นเวลาสามวัน ในขณะที่พระนางและสาวใช้ก็อดอาหารอธิษฐานด้วย “แล้วฉันจะเข้าเฝ้ากษัตริย์ แม้ว่ามันจะขัดต่อธรรมบัญญัติ” พระนางกล่าว “และถ้าฉันพินาศ ฉันก็พินาศ” (เอสเธอร์ 4:16)

เมื่อพระนางเอสเธอร์เข้าเฝ้ากษัตริย์ พระนางกำลังเสี่ยงชีวิตอย่างแท้จริง แต่กษัตริย์เซอร์ซีส “พอใจกับเธอและยื่นคทาทองคำที่อยู่ในมือของเขาให้เธอ” เป็นสัญญาณว่ากษัตริย์ยอมรับการปรากฏตัวของพระนาง (เอสเธอร์ 5:2) พระนางเชิญกษัตริย์เซอร์ซีสและฮามานไปงานเลี้ยงในวันนั้น กษัตริย์เรียกฮามานเข้ามารับประทานอาหารด้วย และถามว่าเอสเธอร์ว่าพระนางต้องการอะไรแม้ “ถึงครึ่งอาณาจักร” (ข้อ 6) พระนางเอสเธอร์เชิญชายสองคนไปร่วมงานเลี้ยงอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นเพื่อทูลขอความประสงค์ของพระนาง (ข้อ 8) ชายทั้งสองก็ตกลง

คืนนั้นกษัตริย์เซอร์ซีสบรรทมไม่หลับและสั่งให้อ่านบันทึกการครองราชย์ของพระองค์ให้ฟัง น่าประหลาดใจที่เรื่องราวซึ่งเขาได้ยินคือเรื่องที่โมรเดคัยเปิดเผยแผนการลอบสังหารและช่วยชีวิตกษัตริย์ ขณะเดียวกันฮามานก็กลับบ้าน ไปเรียกเพื่อนๆ และภรรยาของเขามารวมกันและเล่าให้ฟังว่าเขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง แต่เมื่อเขาได้เห็นโมรเดคัยระหว่างทางกลับบ้านซึ่งทำให้จิตใจของเขาหดหู่ ภรรยาและเพื่อนๆ แนะนำให้ฮามานสร้างตะแลงแกงสำหรับแขวนโมรเดคัย (เอสเธอร์ 5:9–14) ฮามานทำตามคำแนะนำของพวกเขาและได้สร้างตะแลงแกง

ขณะที่กษัตริย์เซอร์ซีสกำลังครุ่นคิดถึงความจริงที่ว่าเขายังไม่เคยได้ตอบแทนโมรเดคัยที่ได้ช่วยชีวิตของเขา ฮามานก็เข้ามาทูลพระองค์ว่าต้องการการแขวนคอโมรเดคัย กษัตริย์ทรงถามความเห็นจากฮามานเกี่ยวกับวิธีให้เกียรติบุคคลที่ “กษัตริย์ทรงพอพระทัยที่จะให้เกียรติ” (เอสเธอร์ 6:6) ฮามานคิดว่ากษัตริย์เซอร์ซีสกำลังหมายถึงเขา จึงเสนอให้เดินแห่ชายคนนั้นโดยสวมชุดคลุมของราชวงศ์และขี่ม้าที่กษัตริย์ทรงขี่ขณะประกาศว่า “จงทำอย่างนี้แก่ผู้ที่กษัตริย์พอพระทัยจะถวายเกียรติ” (เอสเธอร์ 6:9) กษัตริย์เซอร์ซีสทรงสั่งให้ฮามานทำตามคำแนะนำนี้แก่โมรเดคัยโดยทันที

ฮามานเชื่อฟังกษัตริย์และให้เกียรติชายซึ่งเขาเกลียดที่สุด จากนั้นเขาก็เล่าเหตุการณ์นั้นให้ภรรยาและเพื่อนๆ ฟัง ด้วยสายตาที่มองการณ์ไกลเกินกว่าที่พวกเขาคิดได้คือ “บรรดา​ผู้​ปรึกษา​ของ​เขา​กับ​เศเรช​ภรรยา​บอก​เขา​ว่า ‘ใน​เมื่อ​ท่าน​เริ่ม​ล้ม​ลง​ต่อ​หน้า​โมร์เดคัย​ผู้​เป็น​ชน​ชาติ​ยิว ท่าน​จะ​ไม่​มี​วัน​ชนะ​เขา​แน่ แต่​ท่าน​จะ​พินาศ​ต่อ​หน้า​ต่อ​ตา​เขา’” (เอสเธอร์ 6:13) ขันทีของกษัตริย์มาถึงและพาฮามานไปยังงานเลี้ยงของพระนางเอสเธอร์ (ข้อ 14) ที่นั่นพระนางเอสเธอร์ทูลกษัตริย์ว่าประชาชนของเธอ​ถูก​ขาย​ให้​เผชิญ​กับ​ความ​พินาศ ด้วยการแสดงความเคารพและความอ่อนน้อมถ่อมตน “เพราะ​ว่า​ความ​ยาก​ลำบาก​ของ​เรา​นั้น​ไม่​มาก​พอ​ที่​จะ​ต้อง​รบกวน​กษัตริย์” (เอสเธอร์ 7:4) กษัตริย์ทรงตกตะลึงที่มีคนกล้าทำแบบนั้นกับประชาชนของราชินี (ข้อ 5) พระนางเอสเธอร์เปิดเผยถึงชายผู้อยู่เบื้องหลังแผนการคือ “ฮามานผู้ชั่วช้าคนนี้” (ข้อ 7) กษัตริย์เซอร์ซีสออกจากงานเลี้ยงด้วยความโกรธแค้น ฮามานยังคงอยู่เพื่อร้องขอชีวิตจากพระนางเอสเธอร์ เมื่อกษัตริย์กลับเข้าไปในห้องอีกครั้งและเห็นสิ่งนี้ พระองค์คิดว่าฮามานกำลังลวนลามพระนางเอสเธอร์ และสั่งให้ประหารฮามานบนตะแลงแกงที่เขาสร้างไว้สำหรับโมรเดคัย (ข้อ 8–10)

หลังจากที่ฮามานเสียชีวิต กษัตริย์เซอร์ซีสทรงมอบที่ดินทั้งหมดของฮามานแก่พระนางเอสเธอร์ และมอบแหวนตราสัญลักษณ์แก่โมรเดคัย ทำให้โมรเดคัยมีอำนาจในอาณาจักรเช่นเดียวกับที่ฮามานเคยมี แต่กฤษฎีกาที่ออกมาจากฮามานนั้นไม่อาจเพิกถอนได้ พระนางเอสเธอร์จึงอ้อนวอนกษัตริย์ให้เข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง กษัตริย์เซอร์ซีสสั่งให้เขียนกฤษฎีกาอีกฉบับหนึ่งเพื่อตอบโต้กฤษฎีกาฉบับแรก ซึ่งให้สิทธิแก่ชาวยิวในการปกป้องตนเองจากใครก็ตามที่จะโจมตีพวกเขา บัดนี้จึงมีความชื่นบานทั่วทุกจังหวัด หลายคนถึงกับกลายเป็นชาวยิวเพราะความกลัว ศัตรูบางคนโจมตีในวันที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ แต่ชาวยิวได้รับชัยชนะเหนือพวกเขา (เอสเธอร์ 8)

ความกล้าหาญและความเชื่อในพระเจ้าของเอสเธอร์เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความไว้วางใจที่หญิงสาวคนนี้มีต่อพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ ชีวิตของเธอเป็นบทเรียนที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเหนือสิ่งซึ่งพระองค์ทรงสร้าง พระเจ้าทรงวางกลยุทธ์ในทุกด้านของชีวิตเพื่อให้ผู้คน รัฐบาล และสถานการณ์เป็นไปตามแผนการและพระประสงค์ของพระองค์ เราอาจไม่รู้ว่าพระเจ้ากำลังทำอะไร ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่สักวันหนึ่งเราอาจจะเข้าใจว่าเหตุใดเราต้องผ่านประสบการณ์บางอย่าง ได้พบปะกับคนบางคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือซื้อของในร้านค้าบางแห่ง หรือเดินทางไปยังบางสถานที่ เมื่อถึงเวลาที่ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน เราอาจมองกลับมาและพบว่าเราเองก็อยู่ถูกที่ถูกเวลาเช่นเดียวกับเอสเธอร์ เธออยู่ในฮาเร็ม “ในเวลาเช่นนี้” เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระราชินี “ในเวลาเช่นนี้” เธอเข้มแข็งขึ้นและพร้อมที่จะวิงวอนแทนผู้คนของเธอ “ในเวลาเช่นนี้” (เอสเธอร์ 4:14) และเธอก็ซื่อสัตย์ที่จะเชื่อฟัง เอสเธอร์วางใจในพระเจ้าและรับใช้อย่างถ่อมใจ ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม เอสเธอร์เป็นเครื่องเตือนใจถึงพระสัญญาของพระเจ้าอย่างแท้จริง ดังที่เขียนไว้ในโรม 8:28 คือ “และ​เรา​ทราบ​ว่า พระ​เจ้า​ช่วย​ให้​ทุก​สิ่ง​เป็น​ไป​ด้วย​ดี​แก่​บรรดา​ผู้​ที่​รัก​พระ​เจ้า คือ​บรรดา​ผู้​ที่​พระ​เจ้า​ได้​เรียก​ตาม​ความ​ประสงค์​ของ​พระ​องค์”



English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

: เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากชีวิตของเอสเธอร์
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries