คำถาม
เหตุใดพระเจ้าทรงอนุญาตให้คนทุพพลภาพและพิการ
คำตอบ
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของผู้ที่มีสุขภาพทางร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจที่เข้มแข็ง แต่พระองค์ก็ทรงเป็นพระเจ้าของผู้ที่ทุพพลภาพทางร่างกายและพิการทางจิตใจเช่นเดียวกัน พระองค์ทรงมีอำนาจสูงสุดเหนือผู้ที่เปราะบางและอ่อนแอ เช่นเดียวกับอยู่เหนือผู้ที่เก่งกาจและเข้มแข็ง พระคัมภีร์สอนว่าทุกคนที่เกิดจากการตั้งครรภ์ในโลกนี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง (ดูสดุดี 139:16) และนั่นรวมถึงคนที่ทุพพลภาพและพิการด้วย
คำถามโดยธรรมชาติคือเหตุใดพระเจ้าทรงอนุญาตให้บางคนเกิดมาทุพพลภาพหรือพิการ หรือเหตุใดพระองค์ทรงอนุญาตให้มีอุบัติเหตุที่นำไปสู่การไร้ความสามารถหรือความบกพร่องทางกายในชีวิตภายหลัง ปัญหานี้ตกอยู่ภายใต้การถกเถียงทางศาสนศาสตร์หรือปรัชญาซึ่งเป็นที่รู้จักกันคือ “ปัญหาแห่งความชั่วร้าย” หรือ “ปัญหาแห่งความเจ็บปวด” หากพระเจ้าทรงทั้งดีและมีอำนาจทุกอย่าง เหตุใดพระองค์ทรงอนุญาตให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น การที่บางคนสูญเสียการมองเห็นของเขาหรือถูกบังคับให้เดินโดยใช้อุปกรณ์เทียมจะมีประโยชน์อะไร เราจะประนีประนอมต่อความดีงามและความสมบูรณ์แบบของพระเจ้ากับความจริงที่ว่าสิ่งทรงสร้างของพระองค์มากมายนั้นแตกสลายและได้รับบาดเจ็บอย่างไร
ก่อนที่เราจะไปต่อเราควรยอมรับว่าเราทุกคนมีความทุพพลภาพหรือความพิการไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความจำเป็นในการสวมแว่นตาบ่งบอกถึงความบกพร่องหรือ “พิการ” ทางการมองเห็น เหล็กจัดฟันเป็นสัญญาณหนึ่งของฟันที่ไม่สมบูรณ์แบบ โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคผิวหนังอักเสบ โรคโรซาเซีย ข้อต่อที่เคลื่อนไหวไม่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้สามารถได้รับการพิจารณาว่าเป็นการไร้ความสามารถในบางส่วน มวลมนุษย์ทั้งสิ้นมีชีวิตอยู่กับความเป็นจริงของความไม่สมบูรณ์แบบ ทุกคนมีประสบการณ์ในเงื่อนไขซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เราทุกคนแตกสลายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความบกพร่องทางกายที่เราอาศัยอยู่นั้นเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย
เมื่อบุคคลหนึ่งเป็นคนทุพพลภาพหรือพิการไม่ว่าในระดับใดก็ตาม ล้วนเป็นอาการของความบาปดั้งเดิมอันเป็นต้นเหตุของความชั่วร้ายที่เข้ามาในโลก ความบาปเข้ามาในโลกเนื่องด้วยการไม่เชื่อฟังของมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้า และความบาปนั้นนำมาซึ่งความเจ็บป่วย ความไม่สมบูรณ์แบบ และโรคภัยไข้เจ็บ (ดูโรม 5:12) โลกจึงแปดเปื้อน เหตุผลหนึ่งที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้ผู้คนทุพพลภาพหรือพิการก็คือ สภาพดังกล่าวเป็นผลตามธรรมชาติของการกบฏของมวลมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้า เราอาศัยอยู่ในโลกแห่งเหตุและผล และมันคือโลกที่ล้มลงในความบาป พระเยซูตรัสว่า “ในโลกนี้ท่านจะมีความทุกข์ยาก” (ยอห์น 16:33) สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าการไร้ความสามารถทุกประเภทเป็นผลโดยตรงจากความบาปส่วนตัว (พระเยซูทรงโต้ตอบแนวคิดนั้นในยอห์น 9:1-3) แต่โดยทั่วไปแล้วการมีอยู่ของความบกพร่องทางกายและการไร้ความสามารถนั้นสามารถสืบย้อนไปถึงการมีอยู่ของความบาปได้
เหตุผลพื้นฐานอีกประการหนึ่งที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้บางคนทุพพลภาพหรือพิการก็คือพระเจ้าทรงสำแดงพระเกียรติสิริแด่พระองค์เองผ่านสิ่งเหล่านั้น เมื่อเหล่าสาวกสงสัยเกี่ยวกับชายที่ตาบอดแต่กำเนิดคนหนึ่ง พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า “การนี้เกิดขึ้นเพื่อสำแดงพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเขา” (ยอห์น 9:3) ในเวลาต่อมาเมื่อเหล่าสาวกกลุ่มเดียวกันนี้สงสัยเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของลาซารัส พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า “เพื่อพระเกียรติสิริของพระเจ้า เพื่อให้พระบุตรของพระเจ้าได้รับเกียรติสิริโดยการนี้” (ยอห์น 11:4) ในทั้งสองกรณีนี้พระเจ้าทรงได้รับพระเกียรติสิริผ่านทางการไร้ความสามารถ ในกรณีของชายตาบอดแต่กำเนิดนั้นผู้ปกครองของพระวิหารมีหลักฐานที่ไม่อาจโต้แย้งได้เกี่ยวกับฤทธานุภาพในการรักษาของพระเยซู ในกรณีของลาซารัสคือ “ชาวยิวหลายคนที่มาเยี่ยมมารีย์และได้เห็นสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำก็เชื่อพระองค์” (ยอห์น 11:45)
อีกเหตุผลหนึ่งที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพก็คือ เพื่อให้เราเรียนรู้ที่จะไว้วางใจในพระองค์มากกว่าในตัวเราเอง เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกโมเสสในถิ่นทุรกันดาร โมเสสไม่เต็มใจที่จะรับฟังการทรงเรียกในตอนแรก แท้จริงแล้วเขาพยายามที่จะใช้ความพิการของตนเป็นข้ออ้างเพื่อถอนตัวออกจากงานรับใช้คือ “โมเสสทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า ‘ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอทรงอภัยโทษต่อผู้รับใช้ของพระองค์ ข้าพระองค์พูดไม่เก่ง ... ข้าพระองค์เป็นคนพูดไม่คล่องและพูดช้า’” (อพยพ 4:10) แต่พระเจ้าทรงทราบปัญหาทั้งหมดของโมเสสคือ “องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับท่านว่า ‘ใครเล่าสร้างปากมนุษย์ ใครเล่าทำให้เขาหูหนวกหรือเป็นใบ้ ใครเล่าทำให้เขามองเห็นหรือตาบอด ไม่ใช่เราผู้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าหรือ บัดนี้จงไปเถิด เราจะช่วยและจะสอนเจ้าว่าเจ้าควรจะพูดอะไร’” (อพยพ 4:11-12) ในตอนที่น่าอัศจรรย์นี้ เราเห็นว่าความสามารถและการไร้ความสามารถทั้งหมดของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของพระเจ้า และพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือผู้รับใช้ที่เชื่อฟังของพระองค์ พระองค์ไม่ได้ทรงเรียกคนที่เพรียบพร้อมมากเท่ากับที่พระองค์ทรงทำให้ผู้ที่พระองค์ทรงเรียกนั้นพร้อม
โจนี เอเร็คสัน ทาดา (Joni Eareckson Tada) ประสบอุบัติเหตุจากการดำน้ำตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมาเธอใช้ชีวิตด้วยการเป็นอัมพาตครึ่งซีก โจนีจินตนาการถึงการพบกับพระเยซูในสวรรค์และพูดคุยกับพระองค์เกี่ยวกับรถเข็นของเธอโดยกล่าวว่า “ยิ่งฉันอ่อนแอเมื่ออยู่ในสิ่งนั้น [รถเข็นของฉัน] ฉันก็ยิ่งพึ่งพาพระองค์มากขึ้นเท่านั้น และยิ่งฉันพึ่งพาพระองค์มากเท่าไร ฉันก็ยิ่งพบว่าความแข็งแกร่งเป็นของพระองค์มากขึ้นเท่านั้น มันจะไม่เกิดขึ้นเลยหากพระองค์ไม่ทรงประทานพระพรจากบาดแผลผ่านรถเข็นคันนั้นแก่ฉัน” เธอสามารถกล่าวถึง “บาดแผล” ของเธอว่าเป็น “พระพร” ได้อย่างไร ก็โดยพระคุณของพระเจ้าเท่านั้น ด้วยความรู้สึกเช่นนั้นโจนีจึงสะท้อนให้เห็นถึงอัครทูตเปาโลผู้ซึ่งยอมรับพระคุณที่เพียงพอของพระคริสต์สำหรับหนามในเนื้อหนังของเขาด้วยถ้อยคำเหล่านี้คือ “ข้าพเจ้าจึงอวดความอ่อนแอของตนด้วยความยินดี เพื่อฤทธิ์อำนาจของพระคริสต์จะได้อยู่ในข้าพเจ้า...เพราะเมื่อใดที่ข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อนั้นข้าพเจ้าก็เข้มแข็ง” (2 โครินธ์ 12:9-10)
อีกเหตุผลหนึ่งที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้บางคนทุพพลภาพหรือพิการก็คือในแผนการที่ทรงครอบครองอยู่ของพระองค์ พระองค์ทรงเลือกสิ่งที่อ่อนแอของโลกนี้เพื่อจุดประสงค์พิเศษกล่าวคือ “แต่พระเจ้าทรงเลือกสิ่งที่โลกเห็นว่าโง่เขลาเพื่อทำให้คนฉลาดอับอาย ทรงเลือกสิ่งที่โลกเห็นว่าอ่อนแอเพื่อให้คนแข็งแรงอับอาย ทรงเลือกสิ่งที่ต่ำต้อยของโลก สิ่งที่เขาดูหมิ่นและสิ่งที่ไม่สำคัญเพื่อล้มล้างสิ่งที่ถือว่าสำคัญ เพื่อว่าจะไม่มีใครโอ้อวดต่อหน้าพระองค์” (1 โครินธ์ 1:27-29)
พระเจ้าไม่ต้องการกำลังหรือทักษะหรือความแข็งแรงทางร่างกายของมนุษย์เพื่อบรรลุพระราชกิจของพระองค์ พระองค์สามารถใช้ความพิการและความทุพพลภาพได้เช่นเดียวกัน พระองค์ทรงใช้เด็กๆ กล่าวคือ “พระองค์ทรงตั้งที่มั่นเพื่อต่อสู้กับเหล่าศัตรูของพระองค์ผ่านทางการสรรเสริญของเด็กและทารก เพื่อทำให้ศัตรูและคนที่เคียดแค้นเงียบไป” (สดุดี 8:2) พระองค์สามารถใช้ใครก็ได้ การจดจำความจริงนี้สามารถช่วยให้ผู้เชื่อที่พิการมุ่งความสนใจไปยังตัวตนที่แท้จริงของพระเจ้าได้ มันง่ายที่จะอยากยอมแพ้เมื่อชีวิตไร้ซึ่งความหมาย แต่ฤทธิ์อำนาจของพระคริสต์นั้นทรงสมบูรณ์แบบในความอ่อนแอ (2 โครินธ์ 12:9)
ในแง่หนึ่งเมื่อพระเยซูเสด็จมาในโลกนี้พระองค์ทรงกลายเป็นคนพิการโดยสมัครใจ พระองค์ทรงกระทำพระองค์เองให้เป็นคนมีความบกพร่องทางพระกายเนื่องจากพระองค์ทรงละทิ้งความสมบูรณ์แบบแห่งสวรรค์เพื่อมาอยู่ท่ามกลางคนบาปในโลก พระองค์ทรงละทิ้งพระสิริของพระองค์เพื่อห่อหุ้มพระองค์เองไว้ในความเป็นมนุษย์ซึ่งไร้เกียรติ ในการเกิดเป็นมนุษย์พระเยซูทรงรับเอาสภาพเนื้อหนังของมนุษย์ทั้งสิ้นด้วยความเปราะบางและความอ่อนแอ “พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่งมารับสภาพทาสบังเกิดเป็นมนุษย์” (ฟิลิปปี 2:7) พระบุตรของพระเจ้าทรงมีส่วนร่วมในสภาพของมนุษย์เราและทรงทนทุกข์ในนามของเรา และนั่นคือสาเหตุที่ “เราไม่ได้มีมหาปุโรหิตซึ่งไม่อาจเห็นใจในความอ่อนแอต่างๆ ของเรา” (ฮีบรู 4:15) ในทางตรงกันข้ามเรามีผู้วิงวอนที่เข้าใจความอ่อนแอของเราซึ่งเชื่อมโยงกับการไร้ความสามารถของเราและมีความเจ็บปวดเหมือนกับเรา
พระเจ้าทรงสัญญาว่าความพิการและความทุพพลภาพทางกายเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวเท่านั้น ความเจ็บป่วยเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ตกสู่ความบาปไม่ใช่ในโลกที่จะมาถึง บุตรของพระเจ้าคือผู้ที่โดยความเชื่อได้วางใจในพระคริสต์แล้วได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบุตรของพระเจ้า (ยอห์น 1:12) โดยมีอนาคตที่สดใสและรุ่งเรือง เมื่อพระเยซูเสด็จมาครั้งแรก พระองค์ทรงให้เราได้ลิ้มรสถึงสิ่งดีๆ ที่ยังมาไม่ถึงกล่าวคือ “ประชาชนนำคนเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ มีทั้งคนที่เจ็บปวดทรมาน คนถูกผีสิง คนเป็นโรคลมชัก คนเป็นอัมพาต และพระองค์ทรงรักษาพวกเขาให้หาย” (มัทธิว 4:24) เมื่อพระเยซูเสด็จมาครั้งที่สองคือ “เมื่อนั้นตาของคนตาบอดจะถูกเปิด และหูของคนหูหนวกจะได้ยิน คนขาพิการจะโลดเต้นเหมือนกวาง และบรรดาคนใบ้จะโห่ร้องยินดี” (อิสยาห์ 35:5-6)
มุมมองที่ต้องนั่งรถเข็นของโจนีช่วยให้เกิดความกระจ่างขึ้นกล่าวคือ “บางทีคนที่พิการจริงๆ อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้ต้องการพระเจ้ามากนัก” สถานภาพของความอ่อนแอ การไร้ความสามารถ และความบกพร่องทางกายคือสถานภาพของการไว้วางใจพระเจ้าในโลกนี้ เป็นสถานภาพที่ได้รับเกียรติและการอวยพรอย่างแท้จริง
English
เหตุใดพระเจ้าทรงอนุญาตให้คนทุพพลภาพและพิการ