คำถาม
เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากชีวิตของเปโตร
คำตอบ
ซีโมนเปโตรหรือที่รู้จักในชื่อเคฟาส (ยอห์น 1:42) เป็นหนึ่งในผู้ติดตามคนแรกๆ ของพระเยซูคริสต์ เขาเป็นสาวกที่พูดตรงไปตรงมาและกระตือรือร้น เป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของพระเยซู เป็นอัครทูต และเป็น “เสาหลัก” ของคริสตจักร (กาลาเทีย 2:9) เปโตรเป็นคนกระตือรือร้น ใจเด็ดเดี่ยว ตัดสินใจรวดเร็ว และบางครั้งก็เป็นคนสะเพร่า เปโตรมีจุดแข็งมากมายและยังคงมีความล้มเหลวหลายประการในชีวิตของเขา แม้กระนั้นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเลือกเขายังคงปั้นเขาต่อไปในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เปโตรเป็นอย่างแท้จริง
ซีโมนเปโตรมีพื้นเพมาจากเมืองเบธไซดา (ยอห์น 1:44) และอาศัยอยู่ในเมืองคาเปอรนาอุม (มาระโก 1:29) ทั้งสองเมืองบนชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี เขาแต่งงานแล้ว (1 โครินธ์ 9:5, มาระโก 1:30) และเขากับยากอบและยอห์นเป็นหุ้นส่วนกันในธุรกิจการประมงที่ได้กำไร (ลูกา 5:10) ซีโมนเปโตรพบพระเยซูผ่านทางอันดรูว์น้องชายของเขา ผู้ที่ติดตามพระเยซูหลังจากได้ยินยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาประกาศว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมษโปดกของพระเจ้า (ยอห์น 1:35-36) อันดรูว์รีบไปหาน้องชายเพื่อพาเขาไปหาพระเยซูทันที เมื่อพบกับซีโมน พระเยซูทรงตั้งชื่อใหม่ให้เขาว่า เคฟาส (ภาษาแอราเมอิก) หรือเปโตร (ภาษากรีก) ซึ่งแปลว่า "ศิลา" (ยอห์น 1:40-42) ต่อมาพระเยซูทรงเรียกเปโตรอย่างเป็นทางการให้ติดตามพระองค์ โดยทำให้เกิดการจับปลาได้อย่างอัศจรรย์ในกระบวนการนั้น (ลูกา 5:1-11) เปโตรทิ้งทุกสิ่งไว้ข้างหลังทันทีเพื่อติดตามองค์พระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 11)
ตลอดสามปีถัดมาเปโตรใช้ชีวิตเป็นสาวกขององค์พระเยซู ในฐานะผู้นำโดยกำเนิดเปโตรกลายเป็นโฆษกอย่างแท้จริงสำหรับสาวกสิบสองคน (มัทธิว 15:15,18:21,19:27, มาระโก 11:21, ลูกา 8:45,12:41, ยอห์น 6:6,13:6-9, 36) ที่สำคัญกว่านั้นคือเปโตรเป็นคนแรกที่ยอมรับพระเยซูว่าเป็น “พระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” ซึ่งเป็นความจริงที่พระเยซูตรัสว่าได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้าแก่เปโตร (มัทธิว 16:16-17)
เปโตรเป็นส่วนหนึ่งของวงในสำหรับสาวกของพระเยซู ตามด้วยยากอบและยอห์น มีเพียงสามคนเท่านั้นซึ่งอยู่ที่นั่นเมื่อพระเยซูทรงทำให้บุตรสาวของไยรัสฟื้นขึ้นมาจากความตาย (มาระโก 5:37) และเมื่อพระเยซูทรงจำแลงพระกายบนภูเขา (มัทธิว 17:1) เปโตรและยอห์นได้รับมอบหมายงานพิเศษในการเตรียมอาหารปัสกามื้อสุดท้าย (ลูกา 22:8)
ในหลายครั้งเปโตรได้แสดงให้เห็นว่าตัวเขาเองเป็นคนใจร้อนจนไปถึงความไม่รอบคอบ ยกตัวอย่างเช่น เปโตรเป็นคนที่ลงเรือเพื่อเดินบนน้ำไปหาพระเยซู (มัทธิว 14:28-29) และละสายตาจากพระเยซูทันทีและเริ่มจม (ข้อ 30) เปโตรเป็นคนดึงพระเยซูออกมาเพื่อกล่าวตำหนิพระองค์ที่พูดถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ (มัทธิว 16:22) และได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วโดยองค์พระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 23) เปโตรเป็นผู้เสนอให้สร้างพลับพลาสามหลังเพื่อเป็นเกียรติแก่โมเสส เอลียาห์ และพระเยซู (มัทธิว 17:4) และล้มลงกับพื้นด้วยความเงียบอย่างหวาดกลัวต่อพระสิริของพระเจ้า (ข้อ 5-6) เปโตรเองที่ชักดาบออกมาโจมตีผู้รับใช้ของมหาปุโรหิต (ยอห์น 18:10) และได้รับคำสั่งให้เก็บอาวุธในทันที (ข้อ 11) เปโตรเป็นคนที่อวดว่าเขาจะไม่ละทิ้งองค์พระเจ้า แม้ว่าคนอื่นๆ จะทำเช่นนั้นก็ตาม (มัทธิว 26:33) และต่อมาได้ปฏิเสธถึงสามครั้งว่าเขาไม่แม้แต่จะรู้จักกับองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยซ้ำ (ข้อ 70-74)
ตลอดช่วงชีวิตขึ้นๆ ลงๆ ของเปโตร องค์พระเยซูทรงยังคงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักและผู้นำทางที่ซื่อสัตย์ พระเยซูทรงยืนยันอีกครั้งว่าซีโมนคือเปโตรและเป็น “ศิลา” ในมัทธิว 16:18-19 โดยสัญญาว่าเขาจะเป็นเครื่องมือในการสถาปนาคริสตจักรของพระเยซู หลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูทรงตั้งชื่อให้เปโตรโดยเฉพาะว่าเป็นผู้ที่ต้องได้ยินข่าวดี (มาระโก 16:7) และได้ทำปาฏิหาริย์ซ้ำในการจับปลาได้เป็นจำนวนมาก พระเยซูทรงกำหนดจุดพิเศษในการให้อภัยและฟื้นฟูเปโตรรวมถึงมอบหมายให้เขาเป็นอัครทูตอีกครั้ง (ยอห์น 21:6, 15-17)
ในวันเพ็นเทคอสต์เปโตรเป็นผู้บรรยายหลักต่อฝูงชนในกรุงเยรูซาเล็ม (กิจการ 2:14 และพระคัมภีร์ที่เหลือในตอนนี้) และคริสตจักรเริ่มต้นด้วยการหลั่งไหลมาของผู้เชื่อใหม่ประมาณ 3,000 คน (ข้อ 41) ต่อมาเปโตรรักษาคนขอทานที่เป็นง่อย (พระธรรมกิจการบทที่ 3) และสั่งสอนอย่างกล้าหาญต่อหน้าสภาแซนเฮดริน (พระธรรมกิจการบทที่ 4) แม้แต่การจับกุม การทุบตี และการคุกคามก็ไม่อาจบั่นทอนความตั้งใจของเปโตรในการสั่งสอนเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ได้ (พระธรรมกิจการบทที่ 5)
พระสัญญาของพระเยซูที่ว่าเปโตรจะเป็นรากฐานในการสร้างคริสตจักรนั้นสำเร็จในสามขั้นตอนคือ เปโตรได้สั่งสอนในวันเพ็นเทคอสต์ (พระธรรมกิจการบทที่ 2) จากนั้นเขาก็อยู่ที่นั่นเมื่อชาวสะมาเรียได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (พระธรรมกิจการบทที่ 8) ในที่สุดเขาก็ถูกเรียกตัวไปที่บ้านของนายร้อยชาวโรมันซึ่งก็คือโครเนลิอัส ผู้ซึ่งเชื่อและรับพระวิญญาณบริสุทธิ์เช่นเดียวกัน (พระธรรมกิจการบทที่ 10) ด้วยวิธีนี้เปโตรได้ "ไขกุญแจ" โลกที่แตกต่างกันสามโลกและได้เปิดประตูคริสตจักรให้กับชาวยิว ชาวสะมาเรีย และคนต่างชาติ
แม้ในฐานะอัครทูต เปโตรก็ประสบกับความเจ็บปวดที่เพิ่มมากขึ้น ในตอนแรกเขาต่อต้านการนำพระกิตติคุณไปให้โครเนลิอัสซึ่งเป็นคนต่างชาติ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเขาเห็นชาวโรมันได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในลักษณะเดียวกับที่เขาได้รับ เปโตรได้สรุปว่า “พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง” (กิจการ 10:34) หลังจากนั้นเปโตรได้ปกป้องจุดยืนของคนต่างชาติในฐานะผู้เชื่ออย่างแข็งขันและยืนกรานว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายยิว (กิจการ 15:7-11)
อีกตอนหนึ่งของการเติบโตในชีวิตของเปโตรเกี่ยวข้องกับการไปเยี่ยมเมืองอันทิโอก ซึ่งเขามีความสุขกับการสามัคคีธรรมกับผู้เชื่อชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามเมื่อชาวยิวที่เคร่งครัดกฎบางคนมาถึงเมืองอันทิโอก เปโตรก็เอาใจพวกเขาโดยได้ถอนตัวออกจากคริสเตียนต่างชาติ อัครทูตเปาโลมองว่านี่เป็นความหน้าซื่อใจคดและได้กล่าวสิ่งนี้ต่อหน้าเปโตร (กาลาเทีย 2:11-14)
ช่วงบั้นปลายของชีวิต เปโตรใช้เวลาอยู่กับยอห์นผู้มีอีกชื่อหนึ่งว่ามาระโก (1 เปโตร 5:13) ผู้เขียนพระกิตติคุณของมาระโกโดยอาศัยความทรงจำของเปโตรในช่วงเวลาที่เขาอยู่กับพระเยซู เปโตรเขียนจดหมายที่ได้รับการดลใจสองฉบับคือพระธรรม 1 และ 2 เปโตรในระหว่างคริสตศักราชที่ 60 ถึง 68 พระเยซูตรัสว่าเปโตรจะสิ้นชีวิตอย่างผู้พลีชีพ (ยอห์น 21:18-19) ซึ่งเป็นคำพยากรณ์ที่เป็นจริงโดยสันนิษฐานได้ว่าอยู่ระหว่างรัชสมัยของเนโร มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าเปโตรถูกตรึงกางเขนแบบกลับหัวในโรม และแม้ว่าเรื่องราวดังกล่าวอาจเป็นเรื่องจริง แต่ก็ไม่มีพยานในพระคัมภีร์หรือประวัติศาสตร์ที่ยืนยันรายละเอียดการเสียชีวิตของเปโตร
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากชีวิตของเปโตร ต่อไปนี้เป็นบทเรียนบางส่วนคือ
พระเยซูทรงเอาชนะความกลัว ไม่ว่าจะเป็นการก้าวลงจากเรือสู่ทะเลที่ซัดสาดหรือก้าวข้ามธรณีประตูบ้านของคนต่างชาติเป็นครั้งแรก เปโตรพบความกล้าหาญในการติดตามพระคริสต์ “ในความรักนั้นไม่มีความกลัว แต่ความรักที่สมบูรณ์นั้นก็ขับไล่ความกลัวออกไปเสีย…” (1 ยอห์น 4:18)
พระเยซูทรงให้อภัยความไม่สัตย์ซื่อ หลังจากที่เขาได้โอ้อวดความสัตย์ซื่อของเขาแล้ว เปโตรก็ได้ปฏิเสธองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างแรงกล้าถึงสามครั้ง พระเยซูทรงฟื้นฟูเปโตรให้กลับมารับใช้ด้วยความรัก เปโตรเคยเป็นคนล้มเหลวมาก่อน แต่เมื่อมีพระเยซูแล้ว ความล้มเหลวไม่ใช่จุดสิ้นสุด “ถ้าเราไม่สัตย์ซื่อ พระองค์ก็ยังคงสัตย์ซื่อ เพราะพระองค์ปฏิเสธพระองค์เองไม่ได้ ” (2 ทิโมธี 2:13)
พระเยซูทรงสั่งสอนอย่างอดทน เปโตรต้องการการแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่า และองค์พระผู้เป็นเจ้าประทานการแก้ไขด้วยความอดทน ความหนักแน่น และความรัก ครูผู้ยิ่งใหญ่มองหานักเรียนที่เต็มใจที่จะเรียนรู้ “เราจะแนะนำและสอนเจ้าถึงทางที่เจ้าควรจะเดินไป…” (สดุดี 32:8)
พระเยซูทรงเห็นเราตามที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราเป็น ครั้งแรกที่พวกเขาพบกัน พระเยซูทรงเรียกซีโมนว่า “เปโตร” ในสายตาของพระเยซู ชาวประมงที่เกเรและสะเพร่าคนนี้เป็นก้อนหินที่มั่นคงและซื่อสัตย์ “...พระองค์ผู้ทรงเริ่มต้นการดีไว้ในพวกท่าน จะทรงทำให้สำเร็จ…” (ฟิลิปปี 1:6)
พระเยซูทรงใช้วีรบุรุษที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เปโตรเป็นชาวประมงจากกาลิลี แต่พระเยซูทรงเรียกเขาให้เป็นผู้หามนุษย์ (ลูกา 5:10) เนื่องจากเปโตรเต็มใจละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามีเพื่อติดตามพระเยซู พระเจ้าจึงทรงใช้เขาในทางที่ยิ่งใหญ่ ขณะที่เปโตรสั่งสอน ผู้คนต่างประหลาดใจกับความกล้าหาญของเขาเพราะเขา “ไม่ได้เรียนหนังสือ” และ “เป็นคนธรรมดา” แต่แล้วพวกเขาก็สังเกตเห็นว่าเปโตร “เคยอยู่กับพระเยซู” (กิจการ 4:13) การได้อยู่กับพระเยซูทำให้ทุกอย่างแตกต่างออกไป
English
English
เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากชีวิตของเปโตร