คำถาม
ฉันจะเป็นผู้ที่ให้ด้วยใจยินดีมากขึ้นได้อย่างไร?
คำตอบ
เราสามารถเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ที่ให้ด้วยใจยินดีโดยการศึกษาเกี่ยวกับผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งโลกนี้ไม่เคยพบเจอคือ พระเยซูคริสต์ การที่พระองค์ทรงทิ้งความมั่งคั่งและพระสิริของอาณาจักรสวรรค์ของพระองค์ไว้เบื้องหลัง พระองค์ทรงมายังโลกและยอมให้ชีวิตของพระองค์เพื่อที่เราจะได้รักษาชีวิตของเราไว้ ในขณะที่พระเจ้าทรงกำหนดให้ลูกๆ ของพระองค์เป็นเหมือนพระบุตรของพระองค์นั้น (โรม 8:29) ไม่มีวิธีการใดที่จะเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ได้ดีไปกว่านี้ นอกจากการให้อย่างเสียสละในแบบที่พระองค์ได้ทำ พระผู้ช่วยให้รอดของเราตรัสกับเราด้วยพระองค์เองว่า "การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ" (กิจการ 20:35) ดังนั้นแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราในการให้ด้วยความยินดีและอย่างกว้างขวางควรจะเป็นการทำให้พระเจ้าพอพระทัย และสะท้อนของประทานแห่งความรอดของพระองค์ที่ให้แก่เรา
จดหมายฉบับที่สองสำหรับชาวโครินธ์เผยให้เห็นความจริงหลายๆ จุดที่สร้างแรงบันดาลใจซึ่งสามารถช่วยให้เราเป็นผู้ให้ด้วยใจยินดีมากขึ้น ในขณะที่เปาโลตักเตือนชาวโครินธ์อย่างชาญฉลาดว่า "จงจำไว้ว่าผู้ที่หว่านอย่างตระหนี่ก็จะเก็บเกี่ยวได้น้อย ผู้ที่หว่านด้วยใจกว้างขวางก็จะเก็บเกี่ยวได้มาก" (2 โครินธ์ 9:6) ความจริงอันถาวรนี้เคยได้รับการประกาศโดยซาโลมอนเมื่อประมานพันปีก่อนหน้านี้คือ "จงถวายเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยทรัพย์สมบัติของเจ้า ด้วยผลแรกจากผลผลิตทั้งปวงของเจ้า แล้วยุ้งฉางของเจ้าจะเต็มล้น" (สุภาษิต 3:9 – 10) และพระคริสต์เองก็ตรัสกับเราว่า "จงให้แล้วท่านจะได้รับ และทะนานที่ตวงเต็มยัดสั่นแน่นพูนล้นจะถูกเทลงในตักของท่าน" (ลูกา 6:38) แน่นอนว่าผู้ที่เข้ามาหาพระองค์จะ "อยู่เย็นเป็นสุข" (สดุดี 112:5)
หลักการนี้เป็นสิ่งที่ชัดเจนอย่างไม่ผิดพลาดคือ เราไม่สามารถที่จะให้มากกว่าพระผู้สร้างซึ่งสง่างามของเราได้ ยิ่งเราให้เพื่อการรับใช้พระเจ้า เราก็จะยิ่งได้รับกลับมา ตามข้อเท็จจริงแล้วที่เดียวในพระคัมภีร์ซึ่งพระเจ้าทรงเชิญให้เราทดสอบพระองค์คือ มาลาคี 3:10 ซึ่งพระองค์ทรงตรัสเกี่ยวกับการถวายของเราต่อพระองค์คือ "จงลองดูเราในข้อนี้ มีหรือที่เราจะไม่เปิดประตูฟ้าสวรรค์เทพรมาให้เจ้าอย่างเหลือล้นจนไม่มีที่จะเก็บ" อีกครั้งหนึ่งคำของซาโลมอนสะท้อนสิ่งนี้คือ "บางคนยิ่งให้อย่างใจกว้างกลับยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น ส่วนบางคนยิ่งตระหนี่ถี่เหนียวกลับยิ่งขาดแคลน คนใจกว้างจะเจริญรุ่งเรือง ผู้ที่นำความชุ่มชื่นไปสู่คนอื่น ก็จะได้รับความชุ่มชื่น" (สุภาษิต 11:24 – 25)
ตามที่เปาโลประกาศว่า "พระเจ้าทรงรักผู้ที่ให้ด้วยใจยินดี" (2 โครินธ์ 9:7) ดังนั้นการให้ด้วยใจยินดีควรจะเป็นวิถีชีวิตของคริสเตียนผู้ซึ่งเข้าใจในพระคุณของพระเจ้า เมื่อเราให้ด้วยใจกว้างและด้วยหัวใจที่ยินยอม พระเจ้าให้ความมั่นใจแก่เราว่าพระองค์ทรงดูแลปกป้องเราและให้สิ่งที่จำเป็นแก่เรา (อิสยาห์ 58:9, สดุดี 22:9, 2 โครินธ์ 9:8, 11) และเราต้องจำไว้ว่าไม่ใช่เพียงแค่ของมีค่าของเราที่จะสามารถให้คืนแก่พระเจ้าได้ ตามที่กษัตริย์ดาวิดชี้ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีนั้นมาจากพระเจ้า (1 พงศาวดาร 29:14) และสิ่งนี้รวมถึงความสามารถและเวลาของเราเช่นกัน ดังที่วันเวลาในชีวิตของเรานั้นได้มีการนับไว้แล้ว (สดุดี 139:16) ฉะนั้นเวลาของเราเป็นของพระเจ้าและของประทานที่เราได้รับก็มาจากพระองค์เช่นเดียวกัน ดังนั้น "แต่ละคนควรรับใช้ผู้อื่นตามของประทานที่ได้รับมา บริหารของประทานแห่งพระคุณของพระเจ้าในรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้รับมาอย่างสัตย์ซื่อ" (1 เปโตร 4:10)
เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกพระองค์ได้ให้ (ยอห์น 3:16) สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเราทำได้ดีในการให้คือ การที่เราจำไว้เสมอว่าเราได้รับความรอดเพราะว่าพระเจ้าของเราให้ด้วยพระทัยกว้างขวาง ในฐานะลูกของพระองค์เราได้รับการทรงเรียกให้เป็น "แสงสว่างของโลก" (มัทธิว 5:14) เมื่อเราไว้วางใจในพระเจ้าและถวายพระเกียรติแด่พระองค์โดยการให้เวลา ของมีค่าและความสามารถของเราด้วยใจกว้างขวาง เราก็กำลังส่องสว่างท่ามกลางมนุษย์อย่างแท้จริง และความดีของเราจะสะท้อนอย่างเปล่งประกายไปยังพระบิดาของเราในสวรรค์
English
ฉันจะเป็นผู้ที่ให้ด้วยใจยินดีมากขึ้นได้อย่างไร?