settings icon
share icon
คำถาม

พระคัมภีร์กล่าวว่าอย่างไรเกี่ยวกับการรับมือกับคนเจ้าปัญหา

คำตอบ


เราทุกคนต่างรู้จักคนที่เราพบว่า “คบด้วยยาก” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งและเราทุกคนต้องรับมือกับคนเจ้าปัญหาในบางครั้ง คนเจ้าปัญหาอาจเป็นคนที่ชอบวางตัวอวดดี ชอบโต้แย้ง เป็นปฏิปักษ์ เห็นแก่ตัว ทะลึ่ง เข้าใจยาก หรือแค่หยาบคาย คนเจ้าปัญหาดูเหมือนจะรู้วิธีในการรบกวนเรา ทำให้เราผิดหวัง ทำร้ายความรู้สึกของเรา และค่อยสร้างปัญหา การรับมือกับคนเจ้าปัญหาเป็นการฝึกฝนความอดทน ความรัก และพระคุณ

การตอบสนองของเราต่อคนเจ้าปัญหาควรยึดตามแบบอย่างซึ่งให้ไว้โดยพระเยซู แน่นอนว่าพระองค์ทรงรับมือกับคนเจ้าปัญหาหลายคนในช่วงเวลาที่พระองค์ประทับอยู่บนโลก ในการที่พระองค์ทรงมีปฏิสัมพันธ์กับคนเจ้าปัญหาพระเยซูไม่เคยแสดงทัศนคติที่เหนือกว่าแบบก้าวร้าวหรือทะนงตนเพราะคิดว่าคนอื่นไม่สำคัญพอ ในทางกลับกันนั้นพระองค์ได้แสดงสิทธิอำนาจภายใต้การควบคุม พระองค์ใช้การตำหนิในเวลาที่จำเป็น (ยอห์น 8:47) แต่พระองค์ยังคงรับมือกับคนเจ้าปัญหาโดยการนิ่งเงียบ (ยอห์น 8:6) การถามคำถาม (มาระโก 11:28-29) นำพวกเขาไปสู่พระคัมภีร์ (มาระโก 10:2-3) และตรัสคำอุปมา (ลูกา 7:40-42)

ในการเทศนาบนภูเขา พระเยซูค่อนข้างเจาะจงเกี่ยวกับการรับมือกับคนเจ้าปัญหาด้วยความรักและความอ่อนน้อมถ่อมตนซึ่งได้แก่ “แต่เราบอกท่านที่ฟังอยู่ว่าจงรักศัตรูของท่าน จงทำดีแก่ผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรคนที่แช่งด่าท่าน จงอธิษฐานเผื่อผู้ที่ทำร้ายท่าน ถ้าผู้ใดตบแก้มท่าน จงหันแก้มอีกข้างให้เขาด้วย ถ้าผู้ใดเอาเสื้อคลุมของท่านไป จงยอมให้เขาเอาเสื้อของท่านไปด้วย จงให้แก่ทุกคนที่ขอท่าน และถ้าใครเอาสิ่งที่เป็นของท่านไป อย่าเรียกร้องสิ่งนั้นกลับคืน จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน” (ลูกา 6:27‭-‬31) พระธรรม 1 เปโตร 3:9 กล่าวว่า “อย่าทำชั่วตอบแทนการชั่ว อย่าด่าว่าผู้ที่ด่าว่าท่าน แต่จงให้พรเขาแทนเพราะพระเจ้าได้ทรงเรียกท่านให้ทำเช่นนี้ เพื่อท่านจะได้รับพระพรเป็นมรดก”‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬

ในการรับมือกับคนเจ้าปัญหา เราต้องป้องกันตัวเองจากความทะนงตน เป็นสิ่งสำคัญที่จะระลึกถึงการเตือนให้ระวังข้อผิดพลาดซึ่งได้ให้ไว้โดยอัครทูตเปาโลในโรม 12:3 คือ “เพราะโดยพระคุณซึ่งได้ประทานแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอกล่าวแก่พวกท่านทุกคนว่าอย่าคิดประเมินตนเองสูงกว่าที่ควร แต่จงคิดประเมินตนอย่างมีสติตามระดับความเชื่อที่พระเจ้าได้ประทานแก่ท่าน” (ดูฟิลิปปี 2:3-4 เช่นเดียวกัน) ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่าเราต้องรับมือกับคนเจ้าปัญหา ก็ให้เราเข้าหาสถานการณ์นั้นด้วยความอ่อนสุภาพ ความรักยังเป็นกุญแจสำคัญคือ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (กาลาเทีย 5:14) เราต้องสำแดงความรักของพระเจ้าต่อคนอื่นซึ่งรวมถึงคนเจ้าปัญหาด้วย

พระธรรมสุภาษิตได้ให้สติปัญญามากมายในการรับมือกับคนเจ้าปัญหา พระธรรมสุภาษิต 12:16 นำเสนอความอดทนในความสัมพันธ์ของเราคือ “คนโง่เขลาระเบิดอารมณ์ ส่วนคนฉลาดไม่ใส่ใจคำสบประมาท” พระธรรมสุภาษิต 20:3 แนะนำให้สร้างความสงบคือ “คนที่หลีกเลี่ยงจากการทะเลาะวิวาทเป็นผู้ได้รับเกียรติ แต่คนโง่ทุกคนมักทะเลาะวิวาทได้ง่าย” พระธรรมสุภาษิต 10:12 ส่งเสริมความรักคือ “ความเกลียดชังก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท แต่ความรักให้อภัยการกระทำผิดทุกอย่าง” พระธรรมสุภาษิต 17:14 ให้ความสำคัญกับการมองไปข้างหน้าและการเชื่อฟังคือ “การเริ่มทะเลาะวิวาทเปรียบเสมือนการปล่อยให้น้ำในเขื่อนไหลทะลักออกมา ดังนั้นจงหยุดการโต้แย้งก่อนที่จะเกิดการทะเลาะวิวาท” ถ้าเป็นไปได้มันอาจดีที่สุดซึ่งจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ทั้งหมดโดยการเลือกคนที่เราคบหาสมาคมด้วยอย่างระมัดระวังคือ “อย่าเป็นเพื่อนกับคนอารมณ์ร้าย และอย่าสมาคมกับคนขี้โกรธ” (สุภาษิต 22:24)

การรับมือกับคนเจ้าปัญหาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเรารับมือกับคนเจ้าปัญหามันง่ายต่อการตอบสนองด้วยเนื้อหนัง แต่นั่นเป็นเพียงการนำข้อเสียในตัวเราออกมา จะดีกว่ามากแค่ไหนที่ยอมให้การรับมือกับคนเจ้าปัญหาของเรานำเอาผลของพระวิญญาณออกมาจากในเรา (กาลาเทีย 5:22-23) โดยพระคุณของพระเจ้าขอให้เรารับมือกับคนเจ้าปัญหาด้วยความรัก สันติสุข พระคุณ ความอดทน ความเมตตา ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพ และจบลงด้วยการควบคุมตนเอง ขอให้เราแผ่ขยายความรัก พระคุณ และความเมตตาเหมือนกับที่พระเจ้าทรงเพิ่มเติมให้แก่เรา และขอให้เราระวังที่จะไม่กลายเป็น “คนเจ้าปัญหา” เสียเอง

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

พระคัมภีร์กล่าวว่าอย่างไรเกี่ยวกับการรับมือกับคนเจ้าปัญหา
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries