คำถาม
พระคัมภีร์กล่าวอะไรเกี่ยวกับลูกๆ ที่ไม่เชื่อฟัง
คำตอบ
จากเด็กวัยหัดเดินที่เริ่มเรียนรู้คำว่า “ไม่” ไปยังเด็กที่มีอายุมากขึ้นซึ่งแสดงออกโดยการตั้งใจที่จะไม่เชื่อฟัง พ่อแม่ทุกคนต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายของลูกที่ไม่เชื่อฟัง และหัวใจของเรื่องนี้ก็คือ การไม่เชื่อฟังไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาของลูก พระคัมภีร์กล่าวว่าเราทุกคนต่างต่อสู้กับความปรารถนาที่จะปกครองตัวเองและทำตามที่เราต้องการเพราะว่าเราเกิดมาในความบาปและการกบฏ (สดุดี 51:5, เอเฟซัส 2:3, โรม 3:10, 7:17-21) ในการต่อสู้ระหว่างความปรารถนาที่จะปกครองตัวเราเองนี้อาจกลายเป็นการเข้าร่วมสงครามอย่างดุดันกับลูกๆ ของเราได้ ถ้าการไม่เชื่อฟังของเขานั้นไม่ได้รับการตรวจสอบ ซึ่งเป็นสงครามที่จะมีผลต่อความสัมพันธ์ในอนาคตของเขากับครู เพื่อนร่วมงาน เพื่อน คู่สมรส พ่อแม่ที่มีอายุมากขึ้น และแม้กระทั่งพระบิดาในสวรรค์ของพวกเขา แต่เมื่อเราหันไปหาพระคัมภีร์ เราจะพบความหวังที่ยิ่งใหญ่ก็คือแท้จริงแล้วพระเจ้าทรงประทานเครื่องมือในการอบรมและฝึกฝนลูกๆ ที่ไม่เชื่อฟังและยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ยังทรงสัญญาว่าจะอวยพรผู้ที่เรียนรู้และเติบโตในการเชื่อฟัง
พระบัญชาในการให้เกียรติและเชื่อฟังพ่อแม่นั้นแทรกซึมอยู่ในพระคัมภีร์ เริ่มต้นในพระธรรมอพยพเมื่อพระเจ้าทรงประทานพระบัญญัติสิบประการ (อพยพ 20:12) แล้วก็ตลอดทั้งพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม (เลวีนิติ 19:3, เฉลยธรรมบัญญัติ 5:16, สุภาษิต 1:8, 6:20-21, 23:22) และไปสู่พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ ทั้งพระเยซูและอัครทูตเปาโลเน้นย้ำพระบัญญัติข้อที่ห้า (มัทธิว 15:4, 19:19, เอเฟซัส 6:1-3, โคโลสี 3:20) และพระสัญญาที่มากับข้อนั้น ลูกๆ ได้รับการหนุนใจว่าการเชื่อฟังของพวกเขาจะนำมาซึ่งพระพรและชีวิตที่ยืนยาว (อพยพ 20:12, เยเรมีย์ 35:17-19, เอเฟซัส 6:3, โคโลสี 3:20) ในขณะที่ลูกๆ ที่ไม่เชื่อฟังผู้ซึ่งไม่ให้เกียรติพ่อแม่นั้นได้รับการตักเตือนว่าพฤติกรรมของเขาจะนำมาซึ่งการลงโทษและความอับอายขายหน้า (เลวีนิติ 20:9, เฉลยธรรมบัญญัติ 21:18, 27:16, สุภาษิต 10:1, 15:5, 20:20, 30:17, มัทธิว 15:4) การแพร่กระจายของการไม่เชื่อฟังพ่อแม่จะบ่งบอกถึงลักษณะของสังคมในยุคสุดท้าย (2 ทิโมธี 3:2)
ชนชาติอิสราเอลผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกว่าเป็นลูกๆ ของพระองค์ (อพยพ 4:22) ได้เป็นแบบอย่างของลูกๆ ที่ไม่เชื่อฟัง ในหลายครั้งพระเจ้าบัญชาอิสราเอลให้เชื่อฟังพระองค์ โดยที่ทรงสัญญาว่าจะประทานพระพรที่ยิ่งใหญ่สำหรับการเชื่อฟังและผลลัพธ์ที่เลวร้ายสำหรับการไม่เชื่อฟัง ในช่วงเวลาของโยชูวา อิสราเอลได้เชื่อฟังพระเจ้าและได้รับพระพรคือชัยชนะเหนือศัตรูของพวกเขา (โยชูวา 11:23) หลังจากนั้นตามที่พระธรรมยูดาแสดงให้เห็นตลอดทั้งเล่มว่าการไม่เชื่อฟังของอิสราเอลนำมาซึ่งปัญหา
พระคัมภีร์สอนถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาลูกๆ ที่ไม่เชื่อฟัง การฝึกฝนระเบียบวินัยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตสำหรับทุกคนและผู้ที่กบฏต่ออำนาจของพ่อแม่นั้นต้องถูกตำหนิ พระธรรมสุภาษิต 19:18 กล่าวว่า “จงอบรมบ่มนิสัยลูก เพราะสิ่งนี้ให้ความหวัง อย่ารู้เห็นเป็นใจให้เขาต้องตาย” ในข้อนี้การอบรมบ่มนิสัยลูกนั้นนำเสนอให้เป็นเรื่องของความเป็นความตาย การไม่เชื่อฟังที่ไม่ได้รับการตรวจสอบนั้นจะพาลูกๆ ไปสู่ความพินาศในที่สุด พระธรรมสุภาษิต 13:24 กล่าวว่า “ผู้ที่ไม่ยอมใช้ไม้เรียวก็เกลียดชังลูกของตน แต่ผู้ที่รักลูกก็ใส่ใจอบรมสั่งสอนเขา” ในที่นี้การอบรมสั่งสอนด้วยความรักและความระวังนั้นเป็นสิ่งต้องมีควบคู่กัน ความคิดนี้ได้หักล้างคำพูดที่ว่าพ่อแม่ซึ่ง “มีความรัก” จะไม่มีทางอบรมสั่งสอนลูกของตัวเอง การทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อการกบฏนั้นคือการเกลียดชังลูกที่กบฏ
พระธรรมเอเฟซัสบทที่ 6 นั้นเป็นพระธรรมตอนหลัก ในข้อที่ 1 นั้นได้กล่าวกับลูกๆ ว่า “บุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาของท่านในองค์พระผู้เป็นเจ้า” นั่นคือการเชื่อฟังพ่อแม่ของตัวเองเป็นหน้าที่ซึ่งพระเจ้าได้ทรงประทานให้กับลูกๆ ทุกคน ตราบเท่าที่คำสั่งของพ่อแม่ไม่ได้ขัดต่อพระคำของพระเจ้า ลูกๆ ก็ต้องเชื่อฟัง ในข้อ 4 กล่าวกับพ่อทั้งหลายว่า “ส่วนท่านทั้งหลายที่เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของท่านให้เกิดโทสะ แต่จงเลี้ยงดูพวกเขาด้วยการสั่งสอนและการเตือนสติตามหลักขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นหน้าที่ของพ่อทั้งหลายที่ต้องอบรมลูกๆ ของพวกเขาในทางของพระเจ้าและแนะนำพวกเขาในด้านพระคำขององค์พระผู้เป็นเจ้า ในการทำเช่นนี้พ่อแม่ก็ได้เตรียมตัวให้ลูกๆ ของพวกเขาได้เจอกับโอกาสซึ่งดีที่สุดสำหรับชีวิตที่ยืนยาวและประสบผลสำเร็จในโลกนี้ (ข้อ 3) และได้รับทรัพย์สมบัติในสวรรค์เช่นเดียวกัน (มัทธิว 6:20, กาลาเทีย 6:8-9, เอเฟซัส 1:3-4)
English
พระคัมภีร์กล่าวอะไรเกี่ยวกับลูกๆ ที่ไม่เชื่อฟัง