คำถาม
คำนิยามเรื่องแนวความคิดนอกรีตคืออะไร
คำตอบ
คำนิยามพื้นฐานเรื่องแนวความคิดนอกรีตคือ “การรับรองความคิดเห็นทางศาสนาที่ขัดแย้งกับหลักความเชื่อของคริสตจักรซึ่งเป็นที่ยอมรับ” คำนิยามอีกประการหนึ่งคือ “การไม่เห็นด้วยหรือการเบี่ยงเบนไปจากทฤษฎี หลักปฏิบัติ หรือความคิดเห็นซึ่งมีอยู่โดยทั่วไป” นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเรา คำนิยามเหล่านี้ระบุองค์ประกอบสำคัญสองประการคือตำแหน่งที่มีอำนาจครอบครองและตำแหน่งที่ตรงกันข้าม ในส่วนของศาสนานั้น ความเชื่อหรือการปฏิบัติใดๆ ที่ต่อต้านต่อตำแหน่งทางการของคริสตจักรถือว่าเป็นเรื่องนอกรีต
เรื่องแนวความคิดนอกรีตมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย แต่ในช่วงศตวรรษที่ 12 คริสตจักรคาทอลิกได้ลงมือทำการต่อต้านแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่ออำนาจของคริสตจักรคาทอลิกเพิ่มขึ้นในยุโรป เสียงคัดค้านของคริสเตียนกลุ่มอื่นๆ ก็กลายเป็นปัญหามากขึ้น สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 (ค.ศ. 1162-63) สนับสนุนผู้แจ้งข่าวเพื่อให้คริสตจักรสามารถค้นพบพยานหลักฐานเรื่องแนวความคิดนอกรีตได้ ในปีค.ศ. 1184 สมเด็จพระสันตะปาปาลูเซียสที่ 3 ได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าผู้ถูกตัดสินว่าเป็นคนนอกรีตจะถูกส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายฆราวาสเพื่อจะรับการลงโทษ ตลอดสองสามทศวรรษต่อมาคริสตจักรได้เพิ่มความรุนแรงของการลงโทษต่อเรื่องแนวความคิดนอกรีตมาเรื่อยๆ ซึ่งท้ายที่สุดก็กลายเป็นการละเมิดที่มีโทษถึงตายภายใต้อำนาจของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 ในช่วงเวลานี้ชาวโดมินิกันกลายเป็นตัวแทนหลักของการสอบสวนในศาลพิเศษที่มอบอำนาจให้พิพากษาเจตนาตลอดจนการกระทำ เมื่อถูกสงสัยว่ามีแนวความคิดนอกรีตอยู่ในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนจะถูกส่งออกไปเทศนาสั่งสอน เรียกร้องให้ลูกบ้านออกมารายงานถึงเรื่องแนวความคิดนอกรีต นี่จึงเป็น “การสอบสวนโดยทั่วไป” ซึ่งรวมถึงช่วงเวลาแห่งความกรุณาสำหรับใครก็ตามที่จะสารภาพผิด สิ่งนี้ตามมาด้วย “การสอบสวนพิเศษ” ที่อาจรวมถึงการบีบบังคับ พยานเท็จและการทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่ง “การสารภาพ” ผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นคนนอกรีตเหล่านี้จะได้รับคำสั่งให้บำเพ็ญตนเพื่อไถ่บาป ซึ่งอาจประกอบด้วยการบังคับให้เข้าร่วมคริสตจักร แสวงบุญในเทวสถาน สูญเสียทรัพย์สิน หรือโทษจำคุก คนนอกรีตที่ไม่ยอมกลับใจจะถูกตัดสินโทษประหารชีวิต การสอบสวนยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปจนถึงศตวรรษที่ 15
เห็นได้ชัดว่าเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการสอนเรื่อง “นอกรีต” แตกต่างกันไปตามนิกายออร์โธด็อกซ์ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาในสมัยนั้น กลุ่มหรือบุคคลใดๆ ก็ตามที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นนั้นโดยหลักการแล้วเรียกได้ว่าเป็นเรื่องนอกรีต ในพระธรรมกิจการ 24:14 ชาวยิวเรียกคริสเตียนว่าเป็นคนนอกรีต “คนนอกรีต” ในยุคกลางเป็นเพียงเรื่องนอกรีตเพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยกับคริสตจักรคาทอลิก ไม่ใช่เพราะพวกเขาถือปฏิบัติหลักคำสอนที่ไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ การสอบสวนในประเทศสเปนประหารชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 14,000 คน ซึ่งหลายคนในจำนวนนี้ทำเพียงแต่ครอบครองพระคัมภีร์เท่านั้น ดังนั้นเมื่อกล่าวตามพระคัมภีร์แล้ว คริสตจักรที่ได้รับการสถาปนานั้นเองที่ถือว่านอกรีตในช่วงยุคกลาง
ตามศาสนาคริสต์ที่เชื่อในหลักการของพระคัมภีร์นั้นแนวความคิดนอกรีตคืออะไร พระธรรม 2 เปโตร 2:1 กล่าวว่า “...จะมีผู้สอนเท็จเกิดขึ้นในพวกท่าน ซึ่งจะลอบเอาลัทธินอกรีตอันจะให้ถึงความพินาศเข้ามาเสี้ยมสอน จนถึงกับปฏิเสธองค์เจ้านายผู้ได้ทรงไถ่พวกเขาไว้ ซึ่งจะนำความพินาศมาสู่พวกเขาเองอย่างรวดเร็ว” จากข้อนี้เราจะเห็นว่าเรื่องแนวความคิดนอกรีตนั้นเป็นสิ่งใดก็ตามที่ปฏิเสธคำสอนของพระเยซู ในพระธรรม 1 โครินธ์ 11:19 เปาโลตำหนิคริสตจักรที่ปล่อยให้คนนอกรีตอยู่ในท่ามกลางพวกเขา คนนอกรีตจะนำไปสู่การแตกแยกในพระกายของพระคริสต์ แนวความคิดนอกรีตกำลังปฏิเสธหลักคำสอนที่พระเจ้าทรงประทานให้และเรื่องแนวความคิดนอกรีตส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกในคริสตจักร แนวความคิดนอกรีตเป็นอันตรายและเป็นการทำลายรวมถึงได้รับการแนะนำให้หลีกเลี่ยงเป็นอย่างมากในพระคัมภีร์ (ยกตัวอย่างเช่น 1 ยอห์น 4:1-6, 1 ทิโมธี 1:3-6, 2 ทิโมธี 1:13-14, และพระธรรมยูดาบทที่ 1)
พระคัมภีร์จัดการกับแนวความคิดนอกรีตอย่างไร พระธรรมทิตัส 3:10 กล่าวว่า “จงตักเตือนคนที่ก่อให้เกิดความแตกแยกครั้งหนึ่งก่อน แล้วจึงตักเตือนซ้ำเป็นครั้งที่สอง หลังจากนั้นก็ให้เลิกเกี่ยวข้องกับเขา” เมื่อมีคนหนึ่งในคริสตจักรออกจากการสอนตามหลักพระคัมภีร์ การตอบสนองที่ถูกต้องอันดับแรกคือพยายามแก้ไขสิ่งที่ผิดของเขาก่อน แต่หากเขาปฏิเสธที่จะเชื่อฟังหลังจากการเตือนสองครั้งก็ไม่ต้องทำอะไรกับเขาอีกซึ่งบอกเป็นนัยถึงการตัดออกจากศาสนา ความจริงของพระคริสต์จะทำให้ผู้เชื่อรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน (ยอห์น 17:22-23) แต่แนวความคิดนอกรีตโดยธรรมชาติแล้วจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับความจริงได้
แน่นอนไม่ใช่ทุกความขัดแย้งในคริสตจักรจะเป็นเรื่องแนวความคิดนอกรีต การมีความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อความคิดเห็นแตกแยกหรือรักษาไว้ซึ่งความขัดแย้งต่อคำสอนที่ชัดเจนของพระคัมภีร์มันก็จะกลายเป็นเรื่องนอกรีต เหล่าอัครทูตเองก็ไม่ได้เห็นตรงกันในบางครั้ง (ดูในกิจการ 15:36-41) และครั้งหนึ่งเปโตรต้องถูกตำหนิเพราะพฤติกรรมที่แตกแยกและการยึดถือกฎ (กาลาเทีย 2:11-14) แต่จงสรรเสริญพระเจ้าด้วยทัศนคติของความอ่อนน้อมถ่อมตนและการยอมจำนนต่อพระเจ้าแห่งความจริง อัครทูตจัดการกันจนได้ในความไม่ลงรอยกันของพวกเขาและนี่จึงเป็นแบบอย่างให้พวกเรา
เราจะป้องกันเรื่องแนวความคิดนอกรีตได้อย่างไร พระธรรมฟีลิปปี 2:2-3 เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีคือ “จงทำให้ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีอย่างบริบูรณ์โดยมีความคิดอย่างเดียวกัน มีความรักอย่างเดียวกัน มีใจเดียวกัน และมีเป้าหมายเดียวกัน อย่าทำสิ่งใดด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างเห็นแก่ตัว หรือด้วยความถือดี แต่จงทำด้วยความถ่อมใจ ถือว่าคนอื่นดีกว่าตน” เมื่อตัวเราเองยอมจำนนต่อสิทธิอำนาจแห่งพระวจนะของพระเจ้าและปฏิบัติต่อกันด้วยความรักและความเคารพ ความแตกแยกรวมถึงเรื่องแนวความคิดนอกรีตก็จะลดน้อยลง
English
คำนิยามเรื่องแนวความคิดนอกรีตคืออะไร