คำถาม
เราควรเรียนรู้อะไรจากชีวิตของโมเสส
คำตอบ
โมเสสเป็นหนึ่งในบุคคลซึ่งโดดเด่นที่สุดในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ในขณะที่อับราฮัมได้รับการเรียกว่าเป็น “บิดาแห่งความสัตย์ซื่อ” และเป็นผู้รับพันธสัญญาแห่งพระคุณที่ไม่มีเงื่อนไขของพระเจ้าให้กับประชากรของพระองค์ โมเสสเป็นคนที่ได้รับเลือกให้นำการไถ่มาสู่ประชากรของพระองค์ พระเจ้าทรงเลือกโมเสสโดยเฉพาะเพื่อนำชาวอิสราเอลจากการถูกจองจำในอียิปต์ไปสู่ความรอดในดินแดนแห่งพันธสัญญา โมเสสยังได้รับการยอมรับว่าเป็นสื่อกลางของพันธสัญญาเดิมและโดยทั่วไปจะเรียกว่าเป็นผู้ให้ธรรมบัญญัติ ท้ายที่สุดโมเสสเป็นผู้เขียนหลักของพระธรรม 5 เล่มแรกในพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นพระธรรมพื้นฐานของพระคัมภีร์ทั้งเล่ม บทบาทของโมเสสในพันธสัญญาเดิมเป็นรูปแบบและเงาของบทบาทที่พระเยซูทรงทำในพันธสัญญาใหม่ ด้วยเหตุนี้ชีวิตของเขาจึงควรค่าแก่การศึกษาอย่างแน่นอน
เราพบโมเสสเป็นครั้งแรกในบทเริ่มต้นของพระธรรมอพยพ ในบทที่ 1 เราได้เรียนรู้ว่าหลังจากที่โยเซฟซึ่งเป็นบรรพบุรุษได้ช่วยชีวิตครอบครัวของเขาจากความอดอยากครั้งใหญ่และตั้งให้พวกเขาอยู่ในแผ่นดินโกเชน (ในอียิปต์) เชื้อสายของอับราฮัมก็อยู่อย่างสงบสุขมาหลายชั่วอายุคนจนกระทั่งมีผู้ขึ้นสู่อำนาจในอียิปต์คือฟาโรห์ผู้ “ไม่รู้จักโยเซฟ” (อพยพ 1:8) ฟาโรห์องค์นี้กดขี่ประชาชนชาวฮีบรูและใช้พวกเขาเป็นทาสในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของเขา เนื่องจากพระเจ้าทรงอวยพรชาวฮีบรูให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวอียิปต์จึงเริ่มกลัวชาวยิวที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนของตน ฟาโรห์จึงทรงสั่งให้ประหารเด็กทารกผู้ชายทุกคนที่เกิดจากหญิงชาวฮีบรู (อพยพ 1:22)
ในพระธรรมอพยพบทที่ 2 เราเห็นมารดาของโมเสสพยายามช่วยลูกของเธอโดยวางเขาไว้ในตะกร้าแล้วนำไปวางลงในแม่น้ำไนล์ ในที่สุดตะกร้านั้นก็ถูกพบโดยธิดาของฟาโรห์ และนางก็รับเขาเป็นลูกของตนและเลี้ยงดูเขาในวังของฟาโรห์เอง เมื่อโมเสสเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขาเริ่มเห็นอกเห็นใจในสถานการณ์อันเลวร้ายของประชากรของเขา และเมื่อเห็นชาวอียิปต์ทุบตีทาสชาวฮีบรู โมเสสก็เข้าแทรกแซงและสังหารชาวอียิปต์คนนั้น ในอีกเหตุการณ์หนึ่ง โมเสสพยายามเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างชาวฮีบรูสองคน แต่ชาวฮีบรูคนหนึ่งตำหนิโมเสสและพูดประชดว่า “ท่านตั้งใจจะฆ่าข้าพเจ้าเหมือนกับที่ได้ฆ่าคนอียิปต์คนนั้นหรือ” (อพยพ 2:14) เมื่อตระหนักว่าการกระทำผิดทางอาญาของเขาเป็นที่รู้แล้ว โมเสสจึงหนีไปยังดินแดนมีเดียนที่ซึ่งเขาเข้าไปแทรกแซงอีกครั้ง คราวนี้ได้ช่วยเหลือลูกสาวของเยโธรจากพวกโจร ด้วยความสำนึกในบุญคุณ เยโธร (เรียกอีกอย่างว่าเรอูเอล) ได้มอบศิปโปราห์ลูกสาวของเขาให้กับโมเสสเพื่อแต่งงาน (อพยพ 2:15–21) โมเสสได้อาศัยอยู่ในมีเดียนประมาณสี่สิบปี
เหตุการณ์สำคัญครั้งต่อไปในชีวิตของโมเสสคือการเผชิญหน้ากับพระเจ้าที่พุ่มไม้ที่ไฟลุกโชนอยู่
(พระธรรมอพยพบทที่ 3-4) ซึ่งพระเจ้าทรงเรียกโมเสสให้เป็นผู้ช่วยกู้ประชากรของพระองค์ให้รอด แม้ว่าโมเสสจะมีข้ออ้างในตอนแรกและร้องขออย่างตรงไปตรงมาให้พระเจ้าทรงส่งคนอื่นไป แต่โมเสสก็ตกลงที่จะเชื่อฟังพระเจ้า พระเจ้าสัญญาว่าจะส่งอาโรนพี่ชายของโมเสสไปกับเขาด้วย เรื่องราวที่เหลือก็ค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันดี โมเสสและอาโรนพี่ชายของเขาไปเข้าเฝ้าฟาโรห์ในพระนามของพระเจ้าและเรียกร้องให้ปล่อยประชาชนไปนมัสการพระเจ้าของพวกเขา ฟาโรห์ปฏิเสธอย่างดื้อรั้น และภัยพิบัติสิบประการแห่งการพิพากษาของพระเจ้าก็ตกอยู่กับประชาชนและแผ่นดิน ภัยพิบัติสุดท้ายคือการสังหารบุตรหัวปี ก่อนเกิดภัยพิบัติครั้งสุดท้ายนี้ พระเจ้าทรงบัญชาโมเสสให้ก่อตั้งเทศกาลปัสกา ซึ่งเป็นการรำลึกถึงการช่วยกู้ของพระเจ้าในการไถ่ประชากรของพระองค์จากการเป็นทาสในอียิปต์
หลังจากการอพยพ โมเสสนำประชาชนไปยังขอบของทะเลแดงที่ซึ่งพระเจ้าทรงจัดเตรียมปาฏิหาริย์ในการช่วยให้รอดอีกครั้งโดยแยกน้ำออกจากกันและอนุญาตให้ชาวฮีบรูผ่านไปอีกด้านหนึ่งในขณะที่ทำให้กองทัพอียิปต์จมน้ำ (พระธรรมอพยพบทที่ 14) โมเสสนำประชาชนมาที่ตีนเขาซีนายซึ่งเป็นที่ที่พระเจ้าได้มอบพระบัญญัติให้และพันธสัญญาเดิมที่มีการสถาปนาขึ้นระหว่างพระเจ้ากับชนชาติอิสราเอลที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ (พระธรรมอพยพบทที่ 19-24)
พระธรรมอพยพในส่วนที่เหลือและพระธรรมเลวีนิติทั้งเล่มเกิดขึ้นขณะที่ชาวอิสราเอลตั้งค่ายอยู่ที่ตีนเขาซีนาย พระเจ้าประทานคำแนะนำโดยละเอียดแก่โมเสสในการสร้างพลับพลาซึ่งเป็นเต็นท์เดินทางสำหรับการนมัสการที่สามารถประกอบและถอดประกอบได้เพื่อให้เคลื่อนย้ายได้ง่าย และสำหรับทำอุปกรณ์สำหรับการนมัสการ เครื่องแต่งกายของปุโรหิต และหีบพันธสัญญา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประทับอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางประชากรของพระองค์ตลอดจนสถานที่ซึ่งมหาปุโรหิตจะทำการลบมลทินประจำปีเช่นเดียวกัน พระเจ้ายังประทานคำแนะนำที่ชัดเจนแก่โมเสสเกี่ยวกับวิธีการนมัสการพระเจ้าและแนวทางในการรักษาความบริสุทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์ท่ามกลางประชาชน พระธรรมกันดารวิถีแสดงให้เห็นว่าชาวอิสราเอลย้ายจากซีนายไปยังชายขอบของดินแดนแห่งพันธสัญญา แต่พวกเขาปฏิเสธที่จะเข้าไปเมื่อสายลับสิบในสิบสองคนนำรายงานที่ไม่ดีเกี่ยวกับความสามารถของอิสราเอลในการยึดครองดินแดนแห่งนี้ พระเจ้าทรงประณามชาวยิวรุ่นนี้ให้ตายในถิ่นทุรกันดารเนื่องจากการไม่เชื่อฟังของพวกเขาและทำให้พวกเขาต้องร่อนเร่อยู่ในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบปี ในตอนท้ายของพระธรรมกันดารวิถี ชาวอิสราเอลรุ่นต่อไปได้กลับมาที่ชายขอบของดินแดนแห่งพันธสัญญาและพร้อมที่จะวางใจพระเจ้ารวมถึงรับมันด้วยความเชื่อ
พระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติแสดงให้เห็นว่าโมเสสกล่าวข้อความในรูปแบบของคำเทศนาหลายประการแก่ประชาชน เตือนพวกเขาถึงฤทธิ์อำนาจและความสัตย์ซื่อของพระเจ้าในการช่วยให้รอด เขาได้อ่านธรรมบัญญัติเป็นครั้งที่สอง (พระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 5) และเตรียมชาวอิสราเอลรุ่นนี้ให้พร้อมรับพระสัญญาของพระเจ้า โมเสสเองถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในแผ่นดินเนื่องจากบาปของเขาที่เมรีบาห์ (กันดารวิถี 20:10-13) ในตอนท้ายของพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ มีการบันทึกการตายของโมเสส (เฉลยธรรมบัญญัติ 34) เขาปีนภูเขาเนโบและได้รับอนุญาตให้มองดูดินแดนแห่งพันธสัญญา โมเสสมีอายุ 120 ปีเมื่อเขาเสียชีวิต และพระคัมภีร์บันทึกว่า “ตาของเขาไม่มีบอด และกำลังของเขาไม่ลดลง” (เฉลยธรรมบัญญัติ 34:7) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงฝังโมเสสด้วยพระองค์เอง (เฉลยธรรมบัญญัติ 34:5–6) และโยชูวาได้เข้ามาเป็นผู้นำของประชาชน (เฉลยธรรมบัญญัติ 34:9) พระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 34:10–12 กล่าวว่า “ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีผู้เผยพระวจนะคนใดเกิดขึ้นในอิสราเอลเหมือนโมเสส ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักต่อหน้า ผู้ทรงกระทำหมายสำคัญและการอัศจรรย์ทั้งปวงที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งท่านให้ทำในอียิปต์ ต่อฟาโรห์และต่อทุกคน บรรดาข้าราชการและทั่วแผ่นดินของพระองค์เพราะไม่มีใครเคยสำแดงฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่หรือกระทำการอันน่าครั่นคร้ามซึ่งโมเสสได้กระทำในสายตาของอิสราเอลทั้งปวง”
ข้อความข้างต้นเป็นเพียงภาพร่างโดยย่อเกี่ยวกับชีวิตของโมเสสและไม่ได้กล่าวถึงการปฏิสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า วิธีการที่เขาเป็นผู้นำประชาชน วิธีการที่เฉพาะบางอย่างซึ่งเขาแสดงให้เห็นล่วงหน้าถึงพระเยซูคริสต์ ความสำคัญของเขาต่อความเชื่อของชาวยิว การปรากฏตัวเมื่อมีการจำแลงพระกายของพระเยซู และรายละเอียดอื่นๆ แต่ก็ได้ให้กรอบความคิดบางประการเกี่ยวกับผู้ชายคนนี้ ดังนั้นตอนนี้เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากชีวิตของโมเสส โดยทั่วไปชีวิตของโมเสสแบ่งออกเป็นช่วงเวลา 40 ปีสามช่วง ช่วงแรกคือชีวิตของเขาอยู่ในราชสำนักของฟาโรห์ ในฐานะบุตรบุญธรรมของธิดาฟาโรห์ โมเสสคงได้รับเอกสิทธิ์และสิทธิพิเศษเหมือนกับเจ้าชายแห่งอียิปต์ เขาได้รับการสั่งสอน “ในวิชาการทุกอย่างของชาวอียิปต์ มีความเฉียบแหลมมากในการพูดและกิจการต่างๆ” (กิจการ 7:22) ขณะที่สถานการณ์อันเลวร้ายของชาวฮีบรูเริ่มรบกวนจิตใจของเขา โมเสสเองก็รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยให้รอดแก่ประชาชนของเขา ดังที่สเทเฟนกล่าวต่อหน้าสภาปกครองของชาวยิวว่า “[โมเสส] ด้วยคาดว่าญาติพี่น้องคงเข้าใจว่า พระเจ้าจะทรงช่วยเขาให้รอดด้วยมือของตน” (กิจการ 7:25; เพิ่มเติมโดยผู้เขียน) จากเหตุการณ์นี้เราได้เรียนรู้ว่าโมเสสเป็นคนที่ลงมือทำเช่นเดียวกับเป็นคนเจ้าอารมณ์ อารมณ์ร้อน และชอบทำอะไรหุนหันพลันแล่น พระเจ้าต้องการช่วยประชากรของพระองค์หรือไม่ ใช่ พระเจ้าต้องการใช้โมเสสเป็นเครื่องมือแห่งความรอดที่พระองค์เลือกหรือไม่ ใช่ ไม่ว่าโมเสสจะรู้ดีถึงบทบาทของตนในการช่วยชีวิตชาวฮีบรูอย่างแท้จริงหรือไม่ก็ตาม เขากลับกระทำอย่างหุนหันพลันแล่น เขาพยายามทำในเวลาของเขาแต่พระเจ้าประสงค์ให้ทำในเวลาของพระองค์ บทเรียนสำหรับเราที่ชัดเจนคือ เราต้องตระหนักอย่างเฉียบแหลมไม่เพียงแต่ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าในเวลาของพระองค์ ไม่ใช่ของเรา เช่นเดียวกับตัวอย่างอื่นๆ ในพระคัมภีร์มากมาย เมื่อเราพยายามทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าในเวลาของเรา เราก็จะสร้างความยุ่งเหยิงครั้งใหญ่กว่าที่เคยมีมา
โมเสสต้องการเวลาเพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เรียนรู้ที่จะมีความอ่อนโยน และถ่อมตัวต่อพระพักตร์พระเจ้า และสิ่งนี้นำเราไปสู่บทต่อไปในชีวิตของโมเสส นั่นคือ 40 ปีของเขาในดินแดนมีเดียน ในช่วงเวลานี้โมเสสเรียนรู้ชีวิตที่เรียบง่ายของผู้เลี้ยงแกะ สามี และพ่อ พระเจ้าทรงรับชายหนุ่มที่ฉุนเฉียวอารมณ์ร้อนคนหนึ่ง และเริ่มกระบวนการหล่อและปั้นเขาให้เป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์แบบเพื่อให้พระเจ้าใช้ เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากช่วงเวลานี้ในชีวิตของเขา หากบทเรียนแรกคือการรอคอยเวลาของพระเจ้า บทเรียนที่สองคืออย่าเกียจคร้านในขณะที่เรารอคอยเวลาของพระเจ้า แม้ว่าพระคัมภีร์ไม่ได้ใช้เวลามากนักกับรายละเอียดในช่วงนี้ของชีวิตโมเสส แต่ก็ไม่ใช่ว่าโมเสสกำลังนั่งเฉยๆ เพื่อรอการทรงเรียกของพระเจ้า เขาใช้เวลาส่วนที่ดีกว่าของ 40 ปีในการเรียนรู้วิถีของคนเลี้ยงแกะและช่วยเหลือรวมถึงเลี้ยงดูครอบครัว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แม้ว่าเราอาจโหยหาประสบการณ์ “บนยอดเขา” กับพระเจ้า แต่ 99 เปอร์เซ็นต์ของชีวิตเราอาศัยอยู่ในหุบเขาเพื่อทำสิ่งธรรมดาๆ ในแต่ละวันที่ประกอบกันเป็นชีวิต เราต้องมีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้า “ในหุบเขา” ก่อนพระองค์จะเกณฑ์เราเข้าสู่การรบ บ่อยครั้งเป็นเรื่องเล็กน้อยของชีวิตที่พระเจ้าทรงฝึกฝนและเตรียมเราให้พร้อมรับการทรงเรียกของพระองค์ในฤดูกาลหน้า
อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากโมเสสในช่วงเวลาที่เขาอยู่ในมีเดียนก็คือ เมื่อในที่สุดพระเจ้าทรงเรียกเขาให้มารับใช้โมเสสก็ต่อต้าน บุรุษผู้กระทำการในช่วงต้นชีวิตของเขาซึ่งก็คือโมเสสในขณะนี้อายุ 80 ปีได้กลายเป็นคนขี้ขลาดจนเกินไป เมื่อได้รับการทรงเรียกให้กล่าวแทนพระเจ้า โมเสสกล่าวว่าท่าน “พูดไม่คล่องและพูดช้า” (อพยพ 4:10) นักวิจารณ์บางคนเชื่อว่าโมเสสอาจมีอุปสรรคในการพูด แต่ก็คงแปลกที่สเทเฟนจะกล่าวว่าโมเสส “มีฤทธิ์เดชทั้งในด้านคำพูดและการกระทำ” (กิจการ 7:22) บางทีโมเสสอาจไม่ต้องการกลับเข้าไปในอียิปต์และล้มเหลวอีกครั้ง นี่ไม่ใช่ความรู้สึกผิดปรกติ มีพวกเรากี่คนที่พยายามทำบางสิ่ง (ไม่ว่าจะเป็นเพื่อพระเจ้าหรือไม่ก็ตาม) แต่ล้มเหลว แล้วก็ลังเลที่จะพยายามอีกครั้ง มีสองสิ่งที่ดูเหมือนว่าโมเสสจะมองข้ามไป สิ่งหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตของเขาเองในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือพระเจ้าจะทรงสถิตกับเขา โมเสสล้มเหลวในตอนแรกไม่ใช่เพราะเขากระทำการด้วยความหุนหันพลันแล่น แต่เพราะเขากระทำโดยไม่มีพระเจ้า ดังนั้นบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากที่นี่คือเมื่อคุณได้ยินเสียงเรียกซึ่งชัดเจนจากพระเจ้า จงก้าวไปข้างหน้าด้วยความเชื่อ โดยรู้ว่าพระเจ้าอยู่กับคุณ อย่าขี้คลาด จงมีกำลังขึ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า และในฤทธิ์เดชอันมหันต์ของพระองค์ (เอเฟซัส 6:10)
บทที่สามซึ่งเป็นบทสุดท้ายในชีวิตของโมเสสคือบทที่พระคัมภีร์ใช้เวลามากที่สุดในการจดบันทึกเหตุการณ์ ได้แก่บทบาทของเขาในการไถ่อิสราเอล เราสามารถเรียนรู้บทเรียนหลายอย่างได้จากบทนี้ในชีวิตของโมเสสเช่นกัน ประการแรกคือวิธีการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพของประชาชน โมเสสจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผู้ลี้ภัยชาวฮีบรูประมาณสองล้านคน เมื่อสิ่งต่างๆ เริ่มทำให้เขาล้า เยโธร พ่อตาของเขาเสนอแนะให้เขามอบหมายความรับผิดชอบให้กับชายผู้สัตย์ซื่อคนอื่นๆ ซึ่งเป็นบทเรียนที่คนจำนวนมากซึ่งมีสิทธิอำนาจเหนือคนอื่นจำเป็นต้องเรียนรู้ (พระธรรมอพยพบทที่ 18) นอกจากนี้เรายังเห็นชายคนหนึ่งที่พึ่งพาพระคุณของพระเจ้าเพื่อช่วยในงานของเขา โมเสสวิงวอนเพื่อประชาชนต่อพระพักตร์พระเจ้าอย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้มีอำนาจทุกคนอ้อนวอนต่อพระเจ้าในนามของประชาชนที่พวกเขาดูแลรับผิดชอบ โมเสสตระหนักดีถึงความจำเป็นของการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้าและถึงกับขอให้เห็นพระสิริของพระเจ้า (พระธรรมอพยพบทที่ 33) โมเสสรู้ว่านอกเหนือจากพระเจ้าแล้ว การอพยพก็ไม่มีความหมาย พระเจ้าคือผู้ที่ทำให้ชาวอิสราเอลแตกต่าง และพวกเขาต้องการพระองค์มากที่สุด ชีวิตของโมเสสยังสอนบทเรียนให้เรารู้ว่ามีบาปบางอย่างที่จะยังคงหลอกหลอนเราตลอดชีวิตของเรา อารมณ์ร้อนแบบเดียวกับที่ทำให้โมเสสประสบปัญหาในอียิปต์ก็ทำให้เขาประสบปัญหาระหว่างการเดินทางในถิ่นทุรกันดารเช่นเดียวกัน ในเหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้นที่เมรีบาห์ โมเสสทุบหินด้วยความโกรธเพื่อจัดหาน้ำให้ประชาชน อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระเจ้าและไม่ได้ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าอย่างระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจึงห้ามไม่ให้เขาเข้าไปในแผ่นดินแห่งพันธสัญญา ในทำนองเดียวกัน เราทุกคนต่างก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของบาปที่รบกวนเรามาตลอดชีวิต บาปต่างๆ ที่ทำให้เราต้องตื่นตัวอยู่เสมอ
นี่เป็นเพียงบทเรียนเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากชีวิตของโมเสส อย่างไรก็ตามถ้าเราพิจารณาชีวิตของโมเสสโดยคำนึงถึงเนื้อหาโดยรวมของพระคัมภีร์ เราจะเห็นความจริงทางศาสนศาสตร์ที่กว้างขึ้นซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวของการไถ่บาป ในบทที่ 11 ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูใช้โมเสสเป็นตัวอย่างของความเชื่อ เราเรียนรู้ว่าโดยความเชื่อโมเสสปฏิเสธความรุ่งโรจน์ในวังของฟาโรห์เพื่อเข้าร่วมกับสถานการณ์อันเลวร้ายกับประชากรของเขา ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูกล่าวว่า “[โมเสส] ถือว่าความอับอายขายหน้าเพื่อพระคริสต์ล้ำค่ากว่าสมบัติทั้งหลายของอียิปต์” (ฮีบรู 11:26; เพิ่มเติมโดยผู้เขียน) ชีวิตของโมเสสเป็นชีวิตแห่งความเชื่อ และเรารู้ว่าหากไม่มีความเชื่อก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้พระเจ้าพอพระทัย (ฮีบรู 11:6) ในทำนองเดียวกันโดยความเชื่อที่เรารอคอยความร่ำรวยจากสวรรค์ก็สามารถทำให้เราอดทนต่อความยากลำบากทางโลกในช่วงชีวิตนี้ได้ (2 โครินธ์ 4:17–18)
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เรายังรู้เช่นเดียวกันว่าชีวิตของโมเสสนั้นเป็นแบบอย่างให้เห็นถึงชีวิตของพระคริสต์ เช่นเดียวกับพระคริสต์ โมเสสเป็นสื่อกลางของพันธสัญญา อีกครั้งผู้เขียนพระธรรมฮีบรูพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแสดงให้เห็นประเด็นนี้ (ยืนยันมาจากพระธรรมฮีบรูบทที่ 3 และบทที่ 8—10) อัครทูตเปาโลกล่าวถึงประเด็นเดียวกันใน 2 โครินธ์บทที่ 3 ความแตกต่างคือพันธสัญญาที่โมเสสเป็นสื่อกลางนั้นเป็นแบบชั่วคราวและมีเงื่อนไข ส่วนพันธสัญญาที่พระคริสต์ทรงเป็นสื่อกลางนั้นเป็นพันธสัญญานิรันดร์และไม่มีเงื่อนไข เช่นเดียวกับพระคริสต์ โมเสสจัดเตรียมการไถ่บาปให้กับประชากรของเขา โมเสสปลดปล่อยประชาชนชาวอิสราเอลจากการเป็นทาสและการกดขี่ในอียิปต์รวมถึงนำพวกเขาไปยังดินแดนแห่งพันธสัญญาซึ่งก็คือคานาอัน พระคริสต์ทรงปลดปล่อยประชากรของพระองค์จากการผูกมัดและการเป็นทาสต่อบาปและการประณาม รวมถึงนำพวกเขาไปยังดินแดนพันธสัญญาแห่งชีวิตนิรันดร์บนโลกที่สร้างใหม่เมื่อพระคริสต์เสด็จกลับมาเพื่อพิชิตอาณาจักรที่พระองค์ทรงสถาปนาเมื่อพระองค์เสด็จมาครั้งแรก เช่นเดียวกับพระคริสต์ โมเสสเป็นผู้เผยพระวจนะแก่ประชาชนของเขา โมเสสกล่าวพระวจนะของพระเจ้าแก่ชาวอิสราเอเช่นเดียวกับที่พระคริสต์ทรงกระทำ (ยอห์น 17:8) โมเสสพยากรณ์ว่าพระเจ้าจะทรงให้มีผู้เผยพระวจนเหมือนกับเขามาจากท่ามกลางประชาชน (เฉลยธรรมบัญญัติ 18:15) พระเยซูและคริสตจักรในยุคแรกสอนและเชื่อว่าโมเสสกำลังกล่าวถึงพระเยซูเมื่อเขาเขียนถ้อยคำเหล่านั้น (ยืนยันมาจากยอห์น 5:46, กิจการ 3:22, 7:37) ในหลายๆ ด้านชีวิตของโมเสสเป็นผู้มาก่อนพระคริสต์ ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถมองเห็นได้ว่าพระเจ้าทรงดำเนินแผนการไถ่บาปของพระองค์ในชีวิตของผู้สัตย์ซื่อตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์อย่างไร สิ่งนี้ทำให้เรามีความหวังว่าเช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงช่วยประชากรของพระองค์และให้พวกเขาได้พักผ่อนโดยการกระทำของโมเสส พระเจ้าก็จะทรงช่วยเราและประทานวันสะบาโตอันเป็นนิรันดร์ให้เราได้พักผ่อนในพระคริสต์เช่นกัน ทั้งในปัจจุบันและในชีวิตที่จะมาถึง
ท้ายที่สุดเป็นซึ่งน่าสนใจที่จะสังเกตว่า แม้ว่าโมเสสจะไม่เคยก้าวเข้าสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญาเลยในช่วงชีวิตของเขา แต่เขาก็ได้รับโอกาสให้เข้าสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญาหลังจากการตายของเขา บนภูเขาแห่งการจำแลงพระกาย เมื่อพระเยซูทรงประทานพระเกียรติสิริอันเต็มเปี่ยมแก่เหล่าสาวกของพระองค์ พระองค์เสด็จไปพร้อมกับบุคคลในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมสองคนคือโมเสสและเอลียาห์ซึ่งเป็นตัวแทนของธรรมบัญญัติและผู้เผยพระวจนะ ในวันนี้โมเสสกำลังสัมผัสกับวันสะบาโตที่แท้จริงในพระคริสต์ซึ่งวันหนึ่งคริสเตียนทุกคนจะได้มีส่วนร่วมด้วย (ฮีบรู 4:9)
English
เราควรเรียนรู้อะไรจากชีวิตของโมเสส