คำถาม
เราควรเรียนรู้อะไรบ้างจากชีวิตของเนหะมีย์
คำตอบ
เอสราและเนหะมีย์เป็นบุคคลร่วมสมัยเดียวกัน และทั้งสองเขียนเกี่ยวกับการสร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นประมาณเจ็ดสิบปีหลังจากที่ถูกชาวบาบิโลนทำลายภายใต้การนำของเนบูคัดเนสซาร์ เอสราเขียนเกี่ยวกับการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ภายใต้เศรุบบาเบล ขณะที่เนหะมีย์เขียนเกี่ยวกับการสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่ ตั้งแต่สมัยโบราณเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกกลางถูกล้อมรอบไปด้วยกำแพงหินพร้อมกับประตูที่มีการคุ้มกันเพื่อปกป้องพลเมือง ผู้มีอำนาจของแต่ละเมืองจะรวมตัวกันที่ประตูซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งพวกเขาจะดำเนินการธุรกิจของเมือง แบ่งปันข้อมูลสำคัญ หรือเพียงแค่มาเพื่อฆ่าเวลาเฉยๆ
เรื่องราวของเนหะมีย์เริ่มต้น 445 ปีก่อนคริสต์ศักราช และวันนี้มีความสำคัญเพราะว่าผู้พยากรณ์ดาเนียลซึ่งร่วมสมัยกับเอสราและเนหะมีย์ได้เขียนคำพยากรณ์ “70 สัปดาห์แห่งปี” (ดาเนียล 9:24-27) โดยอิงตามวันที่ซึ่งเฉพาะเจาะจงอย่างมากคือวันที่ 15 มีนาคม 445 ปีก่อนคริสตกาล วันที่นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเริ่มต้นคำพยากรณ์เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นลำดับเวลาของการพยากรณ์ ซึ่งจะสิ้นสุดลงด้วยการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ คำพยากรณ์นี้เขียนไว้นานแล้วก่อนที่พระเยซูจะเสด็จมาในครั้งแรก แต่มันยังคงดำเนินต่อไปตลอดหลายปีจนกระทั่งการทรงพระชนม์อยู่ของพระองค์ทรง “สิ้นสุดลง” ซึ่งมันบอกรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์พระคริสต์ถึงวิธีการที่มันจะปรากฎตัวในโลก และวิธีการที่มันจะต่อสู้อิสราเอลในการโจมตีพระเจ้าและประชากรของพระองค์ในครั้งสุดท้าย ปัจจุบันนี้เรากำลังดำรงชีวิตอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 69 และ 70
คำพยากรณ์ของดาเนียลพบได้ในดาเนียล 9:25 ซึ่งกล่าวว่า “จงรับรู้และเข้าใจข้อนี้เถิด คือตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้กอบกู้และสร้างเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ จวบจนผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมตั้งให้เป็นผู้ครอบครองนั้นจะมาถึง จะมีเจ็ดของ ‘เจ็ด’ และหกสิบสองของ ‘เจ็ด’ จะมีการสร้างถนนหนทางและคูเมือง แต่ทำในช่วงทุกข์ยากลำบาก” เนหะมีย์ไม่รู้ว่าเขากำลังทำให้คำพยากรณ์ที่ดาเนียลเขียนไว้นั้นสำเร็จ เนหะมีย์ผู้ซึ่งตกเป็นเชลยในบาบิโลนในขณะนั้นเช่นเดียวกันได้เริ่มงานเขียนของเขาด้วยการอธิษฐานวิงวอนเพื่ออิสราเอลประชากรของเขา เช่นเดียวกับดาเนียลที่อธิษฐานในนามของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ วิงวอนต่อพระเจ้าเพื่อขอความเมตตาให้กับพวกเขาและส่งพวกเขากลับไปยังบ้านเกิดของตน เนหะมีย์ระบุวันที่อย่างเฉพาะเจาะจงภายใต้การดลใจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพื่อที่จะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการออกพระราชกฤษฎีกาให้สร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่
ก่อนที่เขาจะขอการอนุญาตจากกษัตริย์ในการสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่นั้น เนหะมีย์ได้อธิษฐานและพระเจ้าทรงตอบรับคำขอของเขา ในขณะที่เขากำลังจะออกจากบาบิโลน เขาได้พบกับชายชาวอาหรับบางคนที่เยาะเย้ยเขาถึงสิ่งที่เขากำลังจะทำ พระธรรมเนหะมีย์ 2:20 บันทึกคำกล่าวของเขา ซึ่งยังคงเป็นข้อพิสูจน์จนถึงปัจจุบันนี้ถึงผู้มีสิทธิในเมืองที่เรียกว่าเยรูซาเล็มคือ “ข้าพเจ้าจึงตอบพวกเขาว่า ‘พระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์จะทรงช่วยให้เราทำสำเร็จ เราผู้รับใช้ของพระองค์จะเริ่มงานก่อสร้าง ส่วนท่านไม่มีสิทธิ์ไม่มีส่วนใดๆ ในเยรูซาเล็ม’”
เนหะมีย์ดำเนินการสำรวจต่อไปเพื่อสร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ พระเจ้าทรงจัดเตรียมคนงานที่จำเป็นทั้งหมดและการก่อสร้างจึงเริ่มขึ้น อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ได้ปราศจากศัตรูคือผู้ซึ่งปรารถนาที่จะหยุดการสร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ แต่พระเจ้าทรงเข้าแทรกแซงเหมือนกับที่พระองค์ทรงทำกับโมเสส (อพยพ 14:14) เนหะมีย์ 4:20 บันทึกว่า “เมื่อใดที่ท่านได้ยินเสียงเป่าแตร ให้รีบมารวมตัวกับพวกเราที่นั่น พระเจ้าของพวกเราจะทรงต่อสู้เพื่อพวกเรา” นี่เป็นแผนการของพระเจ้าที่ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อจะนำประชากรของพระองค์ออกจากการเป็นทาสและกลับเข้าสู่ดินแดนของพวกเขาเพื่อนมัสการในพระวิหารอีกครั้ง
เราสามารถเรียนรู้จากชีวิตของเนหะมีย์ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าในการฟื้นฟูและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์กับพระเจ้า เมื่อประชากรกลับมายังเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ คำบัญชาแรกของภารกิจคือเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจธรรมบัญญัติของโมเสส ดังนั้นเอสราซึ่งเป็นปุโรหิตจึงใช้เวลาหลายชั่วโมงในการอ่านบทบัญญัติก่อนการประชุมเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าทรงปรารถนา พระธรรมเนหะมีย์ 8:18 บันทึกสิ่งที่ควรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้เชื่อทุกคนคือการอ่านพระคำของพระเจ้าทุกวันคือ “เอสราอ่านบทบัญญัติของพระเจ้าทุกวันตลอดเทศกาล พวกเขาเฉลิมฉลองเทศกาลกันเจ็ดวัน และในวันที่แปดมีการประชุมประชากรตามระเบียบที่กำหนด”
เนหะมีย์เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความซื่อสัตย์และความอุตสาหะ เขาอาศัยอยู่ห่างไกลจากบ้านของตนเอง แต่เขาก็ไม่เคยละทิ้งความหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะกลับไปที่นั้นอีกครั้ง เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในที่ลี้ภัยในดินแดนนอกรีต แต่เขาไม่เคยหวั่นไหวในความเชื่อและไว้วางใจในพระเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ เขาเป็นนักรบแห่งการอธิษฐาน โดยการถวายทุกสิ่งต่อพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้าในการอธิษฐานวิงวอนในนามของประชากรของเขา และเขาได้รับรางวัลสำหรับความพากเพียรและความอุตสาหะของเขา เนหะมีย์ห่วงใยประชากรของตนเป็นอย่างมากขนาดที่ว่าไม่เคยละทิ้งความหวังในการฟื้นฟูพวกเขาเหล่านั้น ไม่เพียงแต่กับบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา แต่ยังรวมถึงพระเจ้าผู้ทรงเรียกบรรพบุรุษของพวกเขาซึ่งก็คืออับราฮัมให้ออกจากพื้นที่เดียวกันและทำพันธสัญญากับเขาซึ่งเป็นพันธสัญญาหนึ่งที่เนหะมีย์เชื่อว่าจะคงอยู่ตลอดไป
English
เราควรเรียนรู้อะไรบ้างจากชีวิตของเนหะมีย์