คำถาม
ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ คืออะไร? ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ เป็นของประทานสำหรับปัจจุบันนี้หรือไม่?
คำตอบ
ปรากฏการณ์ครั้งแรกเกี่ยวกับการพูดภาษาแปลก ๆ เกิดขึ้นในวันเทศกาลเพนเทคศเต ในหนังสือกิจการ 2:1-4 ในตอนนั้นพวกอัครทูตออกไปแบ่งปันพระกิตติคุณกับฝูงชนด้วยการพูดกับพวกเขาด้วยภาษาท้องถิ่น “เราทั้งหลายต่างก็ได้ยินคนเหล่านี้กล่าวถึงมหกิจของพระเจ้าตามภาษาของเราเอง” (กิจการ 2:11) คำว่า “ภาษาแปลก ๆ” ในภาษากรีกแปลตรงตัวว่า “ภาษาต่าง ๆ” ดังนั้นของประทานแห่งการพูดภาษาแปลก ๆ คือการพูดด้วยภาษาที่คนพูดไม่รู้จักแต่คนฟังรู้จักเพื่อให้คนฟังเข้าใจเพราะเป็นภาษาของเขาเอง ใน 1 โครินธ์ บทที่ 12-14 เมื่อท่านอาจารย์เปาโลพูดถึงของประทานที่น่าอัศจรรย์ ท่านออกความเห็นว่า “นี่แหละพี่น้องทั้งหลาย ถ้าข้าพเจ้ามาหาท่านและพูดภาษาต่างๆ จะเป็นประโยชน์อะไรแก่ท่านเล่า เว้นเสียแต่ข้าพเจ้าจะพูดกับท่านโดยคำวิวรณ์ หรือโดยความรู้ หรือโดยคำพยากรณ์ หรือโดยการสั่งสอน” (1 โครินธ์ 14:6) ตามคำพูดของท่านอาจารย์เปาโล และตามความเห็นที่สอดคล้องกับเรื่องการพูดภาษาแปลก ๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือกิจการ การพูดภาษาแปลก ๆ มีประโยชน์สำหรับคนที่ฟังพระวจนะของพระเจ้าในภาษาของเขาเอง แต่ไร้ประโยชน์สำหรับคนอื่น – นอกจากมันจะได้รับการแปล
คนที่มีของประทานในการแปลภาษาแปลก ๆ (1 โครินธ์ 12:30) จะสามารถเข้าใจว่าคนที่พูดภาษาแปลก ๆ นั้นกำลังพูดว่าอะไรแม้ว่าเขาจะไม่รู้จักภาษาที่กำลังถูกพูดอยู่ก็ตาม แล้วเขาก็จะแปลภาษาที่คนอีกคนหนึ่งกำลังพูดให้ทุกคนฟัง “เหตุฉะนั้นให้คนที่พูดภาษาต่างๆอธิษฐานว่า เขาจะสามารถแปลได้ด้วย” (1 โครินธ์ 14:13) ข้อสรุปของท่านอาจารย์เปาโลเกี่ยวกับภาษาแปลก ๆ ที่ไม่ได้รับการแปลมีพลังมาก “แต่ว่าในคริสตจักร ข้าพเจ้าพอใจที่จะพูดสักห้าคำด้วยความเข้าใจ เพื่อเสียงของข้าพเจ้าจะสั่งสอนคนอื่นด้วย ดีกว่าที่จะพูดหมื่นคำเป็นภาษาต่างๆ” (1 โครินธ์ 14:19)
ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ยังใช้ได้ในปัจจุบันหรือไม่? ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 13:8 กล่าวว่าของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ถูกเลิกราไปแล้ว แต่พระคัมภีร์โยงการเลิกรานั้นไปสู่ “ความสมบูรณ์” ที่จะมาถึงใน 1 โครินธ์ 13:10 มีบางคนชี้ไปถึงความแตกต่างระหว่างภาษาที่ใช้ในการเผยพระวจนะ และความรู้ที่ “จะเสื่อมสูญไป” กับภาษาแปลก ๆ ที่จะ “มีเวลาเลิกราไป” ว่าเป็นหลักฐานว่าการพูดภาษาแปลก ๆ จะถูกเลิกราไปก่อนที่ “ความสมบูรณ์” จะมาถึง แม้ว่านี่จะเป็นไปได้ แต่ข้อพระคัมภีร์ไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจน บางคนชี้ไปที่ข้อพระคัมภีร์เช่น อิสยาห์ 28:11 และ โยเอล 2:28-29 ว่าการพูดภาษาแปลก ๆ เป็นหมายสำคัญที่แสดงถึงคำพิพากษาของพระเจ้าที่จะมาถึง 1 โครินธ์ 14:22 บอกว่าภาษาแปลก ๆ เป็น “หมายสำคัญสำหรับผู้ไม่เชื่อ” ตามข้อโต้แย้งนี้ ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ คือ การเตือนพวกยิวว่าพระเจ้ากำลังจะทรงพิพากษาคนอิสราเอลเนื่องจากพวกเขาปฏิเสธพระเยซูคริสต์ในฐานะพระเมสสิยาห์ ดังนั้น เมื่อพระเจ้าทรงพิพากษาชนชาติอิสราเอลจริง ๆ (โดยการทำลายกรุงเยรูซาเล็มด้วยชาวโรมันในปี ค.ศ 70) ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ย่อมไม่ความจำเป็นอีกต่อไป แม้ว่ามุมมองนี้มีความเป็นไปได้ และแม้ว่าวัตถุประสงค์เดิมของการพูดภาษาแปลก ๆ จะสำเร็จลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องถูกหยุดลงด้วย พระคัมภีร์ไม่ได้สรุปว่าของประทานแห่งการพูดภาษาแปลก ๆ ถูกเลิกราไปแล้ว
ในเวลาเดียวกัน หากของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ยังคงใช้การได้อยู่ในคริสตจักรในปัจจุบัน มันจะต้องถูกใช้อย่างสอดคล้องกับพระคัมภีร์ และจะต้องเป็นภาษาจริง ๆ และพอเข้าใจได้ (1 โครินธ์ 14:10) มันจะต้องเป็นภาษาที่สื่อพระวจนะของพระเจ้าให้กับคนอีกภาษาหนึ่ง (กิจการ 2:6-12) มันจะต้องสอดคล้องกับพระบัญชาที่พระเจ้าทรงให้ไว้ผ่านท่านอาจารย์เปาโล “ถ้าผู้ใดจะพูดภาษาต่างๆ จงให้พูดเพียงสองคนหรืออย่างมากที่สุดก็สามคน และให้พูดทีละคน และให้อีกคนหนึ่งแปล แต่ถ้าไม่มีผู้ใดแปลก็ให้คนเหล่านั้นอยู่เงียบๆในที่ประชุมคริสตจักร และให้พูดกับตัวเอง และทูลต่อพระเจ้า” (1 โครินธ์ 14:27-28) มันจะต้องสอดคล้องกับข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 14:33 “เพราะว่าพระเจ้าไม่ใช่ผู้ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย แต่ทรงเป็นผู้ก่อให้เกิดสันติสุข เหมือนที่ได้เกิดขึ้นในบรรดาคริสตจักรแห่งวิสุทธิชนนั้น”
แน่นอนที่สุดว่าพระเจ้าทรงสามารถที่จะให้ของประทานแห่งการพูดภาษาแปลก ๆ กับใครก็ได้เพื่อให้เขาสื่อกับคนอีกคนหนึ่งด้วยภาษาอีกภาษาหนึ่ง พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยิ่งใหญ่สูงสุดในการแจกจ่ายของประทานฝ่ายวิญญาณ (1 โครินธ์ 12:11) ลองวาดภาพดูว่ามันจะเกิดประโยชน์กับมิชชันนารีมากแค่ไหนถ้าพวกเขาไม่ต้องเข้าโรงเรียนเรียนภาษาท้องถิ่น หรือถ้าพวกเขาสามารถพูดกับผู้คนด้วยภาษาท้องถิ่นได้เลย แต่ดูเหมือนว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงทำเช่นนั้น ในปัจจุบันภาษาแปลก ๆ ดูเหมือนจะไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนอย่างที่เกิดในสมัยพันธสัญญาใหม่ แม้ว่ามันจะมีประโยชน์มากก็ตาม ผู้เชื่อส่วนใหญ่ที่บอกว่าเขาใช้ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ไม่ได้ทำอย่างสอดคล้องกับที่ข้อพระคัมภีร์บอกไว้ข้างต้น ความจริงเหล่านี้นำไปสู่ข้อสรุปว่าของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ได้หยุดไปแล้ว หรืออย่างน้อยหายากที่เป็นไปตามแผนของพระเจ้าสำหรับคริสตจักรในปัจจุบัน
ผู้ที่เชื่อในของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ว่าเป็น “ภาษาแห่งการอธิษฐาน” เพื่อให้ตัวเองจำเริญขึ้น ได้แง่คิดมาจากข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 14:4 และ/หรือ 14:28 “ฝ่ายคนที่พูดภาษาต่างๆนั้นก็ทำให้ตนเองเจริญฝ่ายเดียว แต่ผู้ที่พยากรณ์นั้นย่อมทำให้คริสตจักรจำเริญขึ้น” ตลอดบทที่ 14 ท่านอาจารย์เปาโลเน้นถึงความสำคัญของการแปลภาษาแปลก ๆ (ดู 14:5-12) สิ่งที่ท่านอาจารย์เปาโลพูดถึงในข้อ 4 คือ “ถ้าท่านพูดภาษาแปลก ๆ โดยไม่มีการแปล ก็เท่ากับว่าท่านไม่ได้ทำอะไรนอกจากทำให้ตนเองจำเริญขึ้น ทำให้ตัวเองดูเหมือนว่าเข้าลึกฝ่ายวิญญาณมากกว่าคนอื่น หากท่านพูดภาษาแปลก ๆ แล้วมีการแปล ท่านก็ทำให้คนอื่นจำเริญขึ้น” ไม่มีที่ไหนในพันธสัญญาใหม่ที่สั่งไว้อย่างเจาะจงเกี่ยวกับการ “อธิษฐานในภาษาแปลก ๆ” ไม่มีที่ไหนในพันธสัญญาใหม่บอกวัตถุประสงค์ของการ “อธิษฐานในภาษาแปลก ๆ” หรือพูดอย่างจำเพาะเจาะจงถึงใครที่ “อธิษฐานในภาษาแปลก ๆ” นอกจากนั้น หาก “ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ” มีไว้เพื่อทำให้ตัวเองจำเริญขึ้น มันจะไม่เป็นการยุติธรรมสำหรับคนที่ไม่มีของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ หรือ ที่เขาจะไม่จำเริญขึ้น? 1 โครินธ์ 12:29-30 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ
English
ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ คืออะไร? ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ เป็นของประทานสำหรับปัจจุบันนี้หรือไม่?