settings icon
share icon

พระธรรมโยชูวา

ผู้ประพันธ์: พระธรรมโยชูวาไม่ระบุชื่อผู้ประพันธ์ชัดเจน พระธรรมเล่มนี้เป็นไปได้มากว่าเขียนโดยโยชูวาบุตรนูน ผู้สืบทายาทของโมเสสเป็นผู้นำอิสราเอล ตอนหลังของพระธรรมเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นโดยอย่างน้อยคนอื่นอีกคนหลังจากโยชูวาตายไป นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าหลายตอนถูกแก้ไข / รวบรวมต่อไปหลังโยชูวาตายไปแล้ว

วันที่เขียน: พระธรรมโยชูวาน่าจะเขียนขึ้นระหว่าง 1,400 และ 1,370 ปีก่อนคริสตกาล

จุดประสงค์ของการเขียน: พระธรรมโยชูวาได้ให้ภาพรวมของการรณรงค์กองทหารรบเพื่อพิชิตแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญา หลังจากเดินทางอพยพออกจากอียิปต์และท่องวนไปเวียนมาอยู่สี่สิบปีในถิ่นทุรกันดาร ชนชาติใหม่ที่เกิดขึ้นขณะนี้ได้เข้าตั้งรกรากในดินแดนแห่งพระสัญญา พิชิตพลเมืองที่เดิมอยู่ก่อนแล้วและเข้าครอบครองดินแดนนั้น ภาพรวมที่นี่ให้รายละเอียดการสู้รบหลายครั้งที่ทำให้สั้นลงและเลือกเฟ้นมา และวิธีการกระทำที่ไม่เพียงแต่ได้แผ่นดินมาครอบครอง แต่วิธีที่ดินแดนนั้นถูกแบ่งออกเป็นเขตของเผ่าต่างๆ

ข้อพระคัมภีร์ที่สำคัญ:

โยชูวา 1:6-9 “จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด เพราะเจ้าจะกระทำให้ชนชาตินี้รับแผ่นดินนั้นเป็นมรดก ซึ่งเราปฏิญาณไว้กับบรรพบุรุษของเขาทั้งหลายว่าจะยกให้เขา เพียงแต่จงเข้มแข็งและกล้าหาญยิ่งเถิด ระวังที่จะกระทำตามธรรมบัญญัติทั้งหมด ซึ่งโมเสสผู้รับใช้ของเราได้บัญชาเจ้าไว้นั้น อย่าหลีกเลี่ยงจากธรรมบัญญัตินั้นไปทางขวามือหรือทางซ้าย เพื่อว่าเจ้าจะไปในถิ่นฐานใดเจ้าจะได้รับความสำเร็จอย่างดี อย่าให้หนังสือธรรมบัญญัตินี้ห่างเหินไปจากปากของเจ้า แต่เจ้าจงตรึกตรอง ตามนั้นทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเจ้าจะได้ระวังที่จะกระทำตามข้อความที่เขียนไว้นั้นทุกประ การ แล้วเจ้าจะมีความจำเริญและเจ้าจะสำเร็จผลเป็นอย่างดี เราสั่งเจ้าไว้แล้วมิใช่หรือว่าจงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด อย่าตกใจหรือคร้ามกลัวเลย เพราะว่าเจ้าไปในถิ่นฐานใด พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าทรงสถิตกับเจ้า”

โยชูวา 24:14-15 “เหตุฉะนั้น จงยำเกรงพระเจ้าและปรนนิบัติพระองค์ด้วยความจริงใจ และด้วยความซื่อสัตย์ จงทิ้งพระเหล่านั้นซึ่งบรรพบุรุษของ ท่านได้เคยปรนนิบัติที่ฟากตะวันออกของแม่น้ำและในอียิปต์เสีย และท่านทั้งหลายจงปรนนิบัติพระเจ้า และถ้าท่านไม่เต็มใจที่จะปรนนิบัติพระเจ้า ท่านทั้งหลายจงเลือก เสียในวันนี้ว่าท่านจะปรนนิบัติผู้ใด จะปรนนิบัติพระซึ่งบรรพบุรุษ ของท่านปรนนิบัติอยู่ในท้องถิ่นฟากตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติส หรือของคนอาโมไรต์ในแผ่นดินซึ่งท่านอาศัยอยู่ แต่ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัวของข้าพเจ้าเราจะปรนนิบัติพระเจ้า”

บทสรุปย่อ: พระธรรมโยชูวายังคงเล่าเรื่องราวของชาวอิสราเอลต่อไปหลังจากอพยพออกจากอียิปต์ พระธรรมเล่มนี้บันทึกประวัติศาสตร์ที่โยชูวาเป็นผู้นำประชาชนประมาณ 20 ปีหลังจากโมเสสได้เจิมแต่งตั้งเขาในตอนท้ายของพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ พระธรรมโยชูวายี่สิบสี่บทสามารถสรุปเรื่องราวได้ดังต่อไปนี้

บทที่ 1-12: การเข้าไปและครอบครองดินแดนแห่งพระสัญญา
บทที่ 13-22: คำแนะนำสั่งสอนเรื่องการแบ่งสรรปันส่วนดินแดนแห่งพระสัญญา
บทที่ 23-24: บทกล่าวอำลาของโยชูวา

ลางบอกเหตุการณ์ล่วงหน้า: เรื่องราวของนางราหับหญิงแพศยาและความเชื่อที่ยึดมั่นในพระเจ้าของอิสราเอล ทำให้เธอเป็นผู้ที่ได้รับเกียรติยกย่องด้านความเชื่อ

ฮีบรู 11:31 “เพราะความเชื่อ ราหับหญิงแพศยาจึงมิได้พินาศไปพร้อมกับคนเหล่านั้นที่มิได้เชื่อ เพราะนางได้ต้อนรับคนสอดแนมเป็นอย่างดี”

เรื่องราวของเธอเกี่ยวกับพระคุณของพระเจ้าเพื่อคนบาป และการได้รับความรอดโดยความเชื่อเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเป็นพระคุณของพระเจ้าที่เธออยู่ในเชื้อสายของพระเมสสิยาห์

มัทธิว 1:5 “สัลโมนมีบุตรชื่อโบอาสเกิดจากนางราหับ โบอาสมีบุตรชื่อโอเบดเกิดจากนางรูธ โอเบดมีบุตรชื่อเจสซี”

พิธีกรรมอย่างหนึ่งในพระธรรมโยชูวาบทที่ 5 สำเร็จครบบริบูรณ์ในพันธสัญญาใหม่ อธิบายพระบัญชาของพระเจ้าว่า บรรดาคนที่เกิดในถิ่นทุรกันดารจะต้องเข้าสุหนัตเมื่อพวกเขาเข้าสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา

โยชูวา 5:1-9 “เมื่อกษัตริย์ของคนอาโมไรต์ซึ่งอยู่ฟากจอร์แดนข้างตะวันตก และบรรดากษัตริย์ของคนคานาอันซึ่งอยู่ใกล้ทะเล ได้ยินว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้น้ำในจอร์แดนแห้งไป เพื่อคนอิสราเอลให้เขาข้ามฟากไปได้หมดแล้ว จิตใจของเขาก็กลัวไม่มีกำลังใจในตัวอีกต่อไปเหตุเพราะคนอิสราเอล คราวนั้นพระเจ้าตรัสกับโยชูวาว่า ‘จงทำมีดด้วยหินคมและให้คนอิสราเอลเข้าสุหนัตเป็นครั้งที่สอง’ โยชูวาจึงทำมีดหินและให้คนอิสราเอลเข้าสุหนัต ที่กิเบอัธหะอาราโลท นี่แหละเป็นเหตุซึ่งโยชูวาให้เขาเข้าสุหนัต ในบรรดาประชาชนผู้ออกมาจากอียิปต์ พวกผู้ชายคือทหารทั้งหมดสิ้นชีวิตเสียตามทางในถิ่นทุรกันดาร หลังจากที่ออกจากอียิปต์ แม้ว่าประชาชนผู้ออกมาเหล่านั้นได้เข้าสุหนัตหมดทุกคนแล้ว แต่ประชาชนที่เกิดมาใหม่ตามทางที่ในถิ่นทุรกันดาร หลังจากที่ออกมาจากอียิปต์นั้นยังไม่ได้เข้าสุหนัต เพราะว่าคนอิสราเอลเดินทางสี่สิบปีอยู่ ในถิ่นทุรกันดารจนประชาชาติทั้งสิ้น คือทหารที่ออกมาจากอียิปต์สิ้นชีวิตเสียหมด เพราะเขามิได้เชื่อฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า ผู้ซึ่งพระเจ้าทรงปฏิญาณกับเขาว่า พระองค์จะไม่ทรงยอมให้เขาเห็นแผ่นดิน ซึ่งพระเจ้าได้ปฏิญาณแก่บรรพบุรุษว่าจะประทานแก่เราทั้งหลาย เป็นแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์ แต่บุตรของเขาซึ่งพระองค์ทรงให้แทนเขานั้น โยชูวาก็ได้ให้เข้าสุหนัตเพราะว่าเขายังไม่เข้าสุหนัต เพราะว่าเขาไม่เคยได้รับเมื่อมาตามทาง เมื่อได้ให้ประชาชาติเข้าสุหนัตเสร็จหมดแล้ว เขาก็พักอยู่ในค่ายจนกว่าจะหายเป็นปกติ พระเจ้าตรัสกับโยชูวาว่า ‘วันนี้เราได้กลิ้งความอดสูเพราะอียิปต์ไปให้พ้นเจ้าแล้ว’ จึงเรียกชื่อตำบลนั้นว่ากิลกาลจนทุกวันนี้”

โดยการทำเช่นนั้น พระเจ้าทรง "ล้างความอับอายที่ตกเป็นทาสอียิปต์" ให้แก่พวกเขาแล้ว หมายความว่าทรงชำระพวกเขาจากอดีตความผิดบาปในชีวิตของพวกเขา โคโลสีบทที่ 2 อธิบายว่าผู้เชื่อได้เข้าสุหนัตแห่งพระคริสต์ในหัวใจของพวกเขาเอง โดยพระองค์เราถูกขจัดธรรมชาติบาปในชีวิตอดีตของเราขณะที่เรายังไม่มีพระคริสต์ตอนนั้น โคโลสี 2:10-12 “และท่านได้บรรลุถึงความครบบริบูรณ์ในพระองค์ ผู้เป็นศีรษะแห่งปวงเทพผู้ครองและศักดิเทพ ในพระองค์นั้น ท่านได้รับพิธีเข้าสุหนัตที่มือมนุษย์มิได้กระทำ โดยที่ท่านได้สละกายเนื้อหนังเสียในการเข้าสุหนัตแห่งพระคริสต์ และได้ถูกฝังไว้กับพระองค์ในพิธีบัพติศมาแล้ว และในพิธีนั้นท่านได้ฟื้นขึ้นมาจากตายกับพระองค์ด้วย โดยเชื่อในการกระทำของพระเจ้าผู้ได้ทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นมา”

พระเจ้าได้ทรงจัดตั้งเมืองลี้ภัยเพื่อว่าบรรดาผู้ที่ฆ่าคนโดยไม่ได้ตั้งใจจะสามารถอาศัยอยู่ที่นั่นโดยไม่ต้องกลัวการลงโทษตอบแทน พระคริสต์ทรงเป็นที่ลี้ภัย ทรงเป็นผู้ที่เรา "ได้หลบหนีมาเพื่อที่จะยึดถือความหวังที่ทรงประทานแก่เรา"

ฮีบรู 6:18 “เพื่อว่าโดยสองประการที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (พระเจ้าจะไม่ตรัสมุสา) เราผู้ที่ได้หนีไปยึดความหวังซึ่งมีอยู่ตรงหน้า เราจึงจะได้รับการชูใจอย่างมากมาย”

พระธรรมโยชูวามีหลักคำสอนศาสนาที่สำคัญกว่าสิ่งใดเรื่องการพักสงบ หลังจากที่อิสราเอลได้วนเวียนในป่าทุรกันดารเป็นเวลา 40 ปี ในที่สุดก็ได้เข้ามาพักสงบที่พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับพวกเขาในแผ่นดินคะนาอัน ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเตือนเราว่า อย่ายอมให้ความสงสัยเคลือบแคลงใจขวางกั้นมิให้เราเข้ามาพักสงบในพระเจ้าโดยทางพระคริสต์

ฮีบรู 3:7-12 “เหตุฉะนั้น ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสว่า วันนี้ถ้าท่านทั้งหลายฟังพระสุรเสียงของพระองค์ อย่าให้จิตใจของท่านดื้อรั้นอย่างในครั้งกบฏนั้น เหมือนอย่างในวันที่ทดลองในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งบรรพบุรุษของท่านทดลองเราโดยเอาเราเข้าพิสูจน์ ถึงแม้ว่าเขาเห็นการกระทำของเราตลอดสี่สิบปี เพราะเหตุนั้นเราจึงพิโรธคนเหล่านั้นและว่า ‘ใจของเขาหลงผิดอยู่เสมอ เขาไม่รู้จักทางของเรา’ ตามที่เราปฏิญาณด้วยความพิโรธว่า ‘เขาจะไม่ได้เข้าสู่การพำนักซึ่งเราจัดให’ ดูก่อนท่านพี่น้องทั้งหลาย จงระวังให้ดี เพื่อจะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดในพวกท่านมีใจชั่วและไม่เชื่อ คือใจซึ่งพาท่านหลงไปจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์”

การประยุกต์ใช้ปฏิบัติ: ข้อพระคัมภีร์ที่สำคัญข้อหนึ่งของพระธรรมโยชูวาคือ

โยชูวา 1:8-9 “อย่าให้หนังสือธรรมบัญญัตินี้ห่างเหินไปจากปากของเจ้า แต่เจ้าจงตรึกตรองตามนั้นทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเจ้าจะได้ระวังที่จะกระทำตามข้อความที่เขียนไว้นั้น ทุกประ การ แล้วเจ้าจะมีความจำเริญ และเจ้าจะสำเร็จผลเป็นอย่างดี เราสั่งเจ้าไว้แล้วมิใช่หรือว่าจงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด อย่าตกใจหรือคร้ามกลัวเลย เพราะว่าเจ้าไปในถิ่นฐานใด พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าทรงสถิตกับเจ้า” พันธสัญญาเดิมเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวของเหล่าคนที่ "ลืม"

พระเจ้าและพระวจนะของพระองค์และทนทุกข์จากผลที่ตามมาอย่างน่ากลัว สำหรับคริสเตียน พระวจนะของพระเจ้าเป็นสายโลหิตแห่งชีวิต หากเราละเลยสิ่งนี้ ชีวิตของเราจะประสบความลำบากตามมา แต่ถ้าเราเอาใจใส่ใจหลักการของข้อพระคัมภีร์โยชูวา 1: 8 เราจะเป็นคนสมบูรณ์แบบและสามารถใช้การได้ในราชอาณาจักรของพระเจ้า และเราจะพบว่าพระสัญญาของพระเจ้าในโยชูวา 1: 8-9 จะเป็นของเราด้วยเช่นกัน

2ทิโมธี 3:16-17 “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และ เป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การปรับปรุงแก้ไขคนให้ดี และการอบรมในทางธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะพรักพร้อมที่จะกระทำการดีทุกอย่าง”

โยชูวาเป็นตัวอย่างสำคัญที่มีสิทธิพิเศษเป็นพี่เลี้ยงที่สมควรยกย่อง เป็นเวลาหลายปีที่เขายังคงอยู่ใกล้ชิดกับโมเสส เขาเฝ้ามองโมเสสในขณะที่เขาติดตามพระเจ้าในลักษณะที่ดีสมบูรณ์แบบ เขาได้เรียนรู้จากโมเสสที่จะอธิษฐานเป็นส่วนตัว เขาได้เรียนรู้วิธีเชื่อฟังผ่านตัวอย่างของโมเสส นอกจากนี้เห็นได้ชัดว่าโยชูวาได้เรียนรู้ตัวอย่างเชิงลบ ที่ทำให้โมเสสสูญเสียโอกาสที่น่ายินดีในการเข้าสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา หากคุณยังมีชีวิตอยู่ คุณจะเป็นพี่เลี้ยง. บางคนที่ไหนสักแห่งจะเฝ้าดูคุณ บางคนที่อายุน้อยกว่าหรือบางคนที่คุณกำลังมีอิทธิพลต่อเขา กำลังมองว่าคุณใช้ชีวิตอย่างไรและคุณตอบสนองด้วยวิธีการใด บางคนกำลังเรียนรู้จากคุณ บางคนจะทำตามตัวอย่างของคุณ การทำหน้าที่พี่เลี้ยงสำคัญมากยิ่งกว่าคำพูดใดๆ ของพี่เลี้ยง ชีวิตทั้งหมดของเขาหรือเธอจะสำแดงออกมาเอง

English



การสำรวจพันธสัญญาใหม่

การสำรวจพระคัมภีร์

กลับสู่หน้าภาษาไทย

พระธรรมโยชูวา
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries